ผลกระทบที่ได้จากการสูบบุหรี่มวน (Cigarette)
ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำไร่ยาสูบเป็นจำนวนมาก เพราะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตใบยาสูบรายใหญ่อันดับที่ 16 ของโลก เลยทำให้พื้นดินถูกทำลายเป็นบริเวณกว้าง และป่าไม้ก็ลดลงกว่า 20% นับจากปี 2504 จนถึงปี 2562 เนื่องจากต้องการเชื้อเพลิงและกระดาษเป็นจำนวนมากในกระบวนการผลิตบุหรี่มวน
อีกทั้งควันบุหรี่ยังสร้างมลพิษทางอากาศเป็นจำนวนมหาศาลซึ่งจะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ดังนั้นบุหรี่มวนจึงมีอิทธิพลในการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างสูง ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพของเหล่านักสูบและคนรอบข้างตามที่กล่าวในบทความข้างล่างนี้

จุดเริ่มต้น และประวัติของบุหรี่ที่มีมาอย่างยาวนาน
บุหรี่มวนได้ถูกริเริ่มขึ้นในทวีปอเมริกาโดยชนเผ่าอินเดียแดงที่เดิมได้นำยาสูบมาใช้ในเรื่องยาและพิธีกรรมต่าง ๆ และก็มีการนำใบไม้ชนิดหนึ่งมามวนและจุดไฟเพื่อดูดควัน ต่อมายาสูบก็เป็นที่นิยมแพร่หลายในโปรตุเกสและสเปน จนกระทั่งได้มีการนำเข้าประเทศอังกฤษเพื่อกลายมาเป็นพืชเชิงพาณิชย์ในเวลาต่อมาและได้มีการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยนั้น ยาสูบเป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ในสมัยอยุธยาจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชสมัย ร. 4 จึงได้มีการนำเข้าเครื่องจักรจากเยอรมนีเพื่อผลิตบุหรี่มวน และในปี 2482 รัฐบาลจึงได้จัดตั้งโรงงานยาสูบเพื่อซื้อกิจการจากชาวอังกฤษและจากหลาย ๆ บริษัท แล้วมาดำเนินการควบคุมภายใต้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังจนถึงปัจจุบันนี้

บุหรี่หนึ่งมวนมีส่วนประกอบอะไรบ้าง
บุหรี่มวนจะมีรูปทรงกระบอกที่ห่อด้วยกระดาษ มีใบยาสูบซอยละเอียดบรรจุอยู่ภายในโดยที่มีปลายด้านหนึ่งสำหรับจุดไฟและอีกด้านหนึ่งจะมีตัวกรองไว้สำหรับใช้ปากสูบควัน ในหนึ่งมวนของบุหรี่จะประกอบไปด้วย
- กระดาษห่อยาสูบมวนบุหรี่ รูปทรงกระบอกยาวประมาณ 120 มม. เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 10 มม.
- ปลายอีกด้านจะมีก้นกรองบุหรี่เป็นสีขาวนิ่ม ๆ ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ มีเซลลูโลสอะซิเตทเป็นส่วนประกอบหลัก ที่ช่วยดูดซับความชื้นที่เกิดขึ้นระหว่างสูบบุหรี่ รวมทั้งกรองควันบุหรี่จากน้ำมันดินหรือทาร์
- ใบยาสูบบด หรือซอยละเอียดที่ผ่านกระบวนการผลิตยาสูบแล้วเพิ่มสารเคมีอีกกว่า 4000 ชนิดเพื่อสร้างความต่างในรสชาติในแต่ละยี่ห้อ อัดแน่นให้เป็นแท่งแล้วห่อไว้ในกระดาษห่อมวนบุหรี่
- สารประกอบต่าง ๆ ประมาณกว่า 4000 ชนิดในบุหรี่ 1 มวน โดยมีสารก่อมะเร็งไม่น้อยกว่า 42 ชนิด แต่สารอันตรายสำคัญ ๆ จะมี นิโคติน, อะซีโตน, แอมโมเนีย, สารหนู, บิวเทน, แคดเมียม, คาร์บอนมอนอกไซด์, โครไลโนไทรล์, ไฮโดรเจนไซยาไนด์, ไนโตรเจนไดออกไซด์, ฟอร์มาลดีไฮด์, ตะกั่ว, เมทิล เอทิล คีโทน, ปรอท, พอโลเนียม, ทาร์ หรือน้ำมันดิน เป็นต้น
บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าจริงหรือไม่ มาหาคำตอบได้เลย
บุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่มวนจะแตกต่างกันตรงที่กระบวนการผลิตควัน / ไอ
- บุหรี่มวนจะมีกระบวนการเผาไหม้ในการสร้างควัน จึงเสี่ยงต่อการที่จะได้รับสารอันตรายจากการเผาไหม้ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ และน้ำมันดินหรือทาร์ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง
- ในขณะที่บุหรี่ไฟฟ้ามีกลไกการทำงานที่ไม่มีกระบวนการเผาไหม้ จึงช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
แต่ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้า ต่างก็มีสารนิโคตินที่มีผลต่อร่างกายหากได้รับเป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น ระบบเลือด (โรคความดันโลหิตสูง) ระบบประสาท (โรคสมองเสื่อม) และระบบการทำงานของหัวใจ (โรคหัวใจและหลอดเลือด)
ดังนั้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทำให้ผู้สูบปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่มวน เพียงแค่รอดจากการได้รับสารอันตรายจากการเผาไหม้ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ น้ำมันดิน แต่โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการได้รับสารนิโคตินมากเกินไปจนไปทำร้ายสุขภาพร่างกายยังคงมีอยู่เต็ม ๆ

ผลกระทบต่อสุขภาพที่มาจากการสูบบุหรี่ กับทางที่เลือกได้
การสูบบุหรี่มวนเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ การสูบบุหรี่ได้ถูกจัดให้เป็นวิธีฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่งทั้งต่อตัวผู้สูบ และคนรอบข้าง เพราะการสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มโอกาสของการเกิดเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพองและอาการหัวใจวาย ทั้งยังทำให้ผู้สูบดูแก่ขึ้นเพราะควันบุหรี่เป็นตัวเพิ่มรอยเหี่ยวย่นบนผิวหนัง มีน้ำหนักลดลง เป็นต้น
ในบุหรี่มวนจะมีสารพิษที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และสารก่อมะเร็ง
ประเทศไทยทุกวันนี้จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ประมาณวันละเกือบ 200 คน หรือตกประมาณ 70,000 กว่าคนต่อปีโดยที่จำนวนกว่าครึ่งของคนเสียชีวิตจะมีอายุน้อยกว่า 60 ปี การสูบบุหรี่ 1 มวนจะทำให้ชีวิตสั้นลง 7 นาที
นอกเหนือจากคุกคามต่อชีวิตผู้สูบบุหรี่แล้ว ยังมีผลต่อภาพลักษณ์ของผู้สูบอีกด้วย เช่น ฟันเหลือง เล็บเหลือง นิ้วเหลือง ทำให้ใบหน้าเหี่ยวย่น พร้อมมีกลิ่นบุหรี่ติดตามตัวและเสื้อผ้าที่สวมใส่ สร้างบุคลิกในด้านลบ และทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนจากกลิ่นบุหรี่ เพราะกลิ่นบุหรี่เป็นกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์สำหรับคนที่ไม่สูบบุหรี่

สรุป
ไม่ว่าเหตุผลที่ทำให้คนสูบบุหรี่นั้นจะเป็นเพราะต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่เข้าใจว่าภูมิฐาน เท่ หรือเพื่อคลายเครียดก็ตามผู้สูบควรเข้าใจถึงข้อเสียของการสูบบุหรี่มวนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ด้วย จะได้ใช้ในการประกอบการตัดสินใจว่าผลลัพธ์ที่ได้รับนั้นจะคุ้มค่ากับเงินทอง และสุขภาพร่างกายที่ต้องแลกไปหรือไม่
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้าย่อมมีผลกระทบต่อสุขภาพไม่มากก็น้อย ดังนั้นทางเลือกที่มีสุขภาพที่ดีที่สุด คือ การไม่สูบบุหรี่และหาวิธีการคลายเครียดด้วยวิธีอื่น