ทำตาสองชั้น ช่วยแก้ปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้จริงหรือ
ใครที่มีอาการหนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น ตาปรือดูเหมือนคนง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา ดวงตาทั้งสองข้างไม่เท่ากันดูไม่สวยงาม จนสูญเสียความมั่นใจ อาการน่าหนักใจเหล่านี้ คุณอาจกำลังเผชิญอยู่กับปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมาให้ข้อมูลกับคุณว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงคืออะไร อาการ สาเหตุ รวมถึงหาคำตอบว่าการทำตาสองชั้นจะช่วยแก้ปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้จริงหรือ
รู้จักภาวะ “กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง”
ภาวะหนังตาตก (ptosis) หรือกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงคือ ภาวะที่เปลือกตาหรือหนังตาอ่อนแรงลง ซึ่งเกิดจากการที่กล้ามเนื้อที่ยกเปลือกตาสูญเสียความแข็งแรง จนไม่สามารถออกแรงลืมตาได้อย่างเต็มที่ ทำให้หนังตาบนคลุมปิดตาดำมากเกินปกติ ลืมตายาก ลืมตาไม่ขึ้น ตาดูปรือคล้ายคนง่วงนอน หรือในบางรายที่เป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงข้างเดียว อาจทำให้ชั้นตาไม่เท่ากัน ข้างหนึ่งลืมตาได้โตไม่เท่าอีกข้าง ซึ่งหากปล่อยไว้อาจบดบังการมองเห็นได้ ข้อมูลเพิ่มเติมอ่านรายละเอียดได้ที่กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเกิดจากอะไร
สาเหตุของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเกิดจาก
1. กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงตั้งแต่เกิด (Congenital Ptosis)
ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงตั้งแต่แรกเกิด ลักษณะดวงตาของเด็กที่มีภาวะนี้จะไม่มีรอยพับของชั้นตา ลืมตาได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาจเป็นผลเนื่องมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม การที่กล้ามเนื้อตาไม่พัฒนา หรือเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมอง จึงทำให้เกิดภาวะหนังตาตก เปลือกตาปิดคลุมตาดำมากกว่าปกติ หรือ ตาข้างใดข้างหนึ่งมองเห็นน้อยกว่าอีกข้าง
ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข อาจเกิดปัญหาสายตาอื่นๆ ตามมาในภายหลัง เช่น สายตาเอียง ตาขี้เกียจ หรือตาเหล่
2. เกิดจากการระคายเคืองบริเวณกล้ามเนื้อตาเป็นระยะเวลานาน
สาเหตุของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กเป็นเวลานานๆ การใช้งานแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนตลอดทั้งวัน โดยไม่มีการพักสายตา จะส่งผลให้กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า นอกจากนี้ พฤติกรรมการใส่คอนแทคเลนส์ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อตาถูกยืดออก จนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้เช่นกัน
3. เกิดจากการสื่อสารประสาทที่หลังผิดปกติ หรือโรค MG
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis) หรือโรค MG เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายบริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อลาย ส่งผลให้เกิดการนำกระแสประสาทลดลง จนเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายระบบของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนและหายใจ อาจทำให้เกิดภาวะกลืนลำบาก สำลักอาหาร หรือหายใจผิดปกติ
หรือถ้าหากเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณดวงตา ก็จะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ocular Myasthenia Gravis) โดยจะมีอาการหนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น โฟกัสภาพไม่ได้ เห็นภาพ 2 ภาพเหลื่อมกันหรือเห็นภาพแยกออกจากกัน เพราะแนวการมองของดวงตาทั้งสองข้าง ไม่มองไปในตำแหน่งเดียวกัน
อาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
อาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง มีดังนี้
- หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น
เมื่อเป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง กล้ามเนื้อลีเวเตอร์ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อเล็กๆ ที่อยู่เหนือเบ้าตา ทำหน้าที่ควบคุมการยกเปลือกตาด้านบนขึ้น ควบคุมการลืมตา จะสูญเสียความแข็งแรง จนไม่สามารถออกแรงลืมตาได้อย่างเต็มที่ ทำให้ลืมตายาก หรือลืมตาไม่ขึ้น ตาดูปรือคล้ายคนง่วงนอน หรือในบางรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเพียงข้างเดียว อาจทำให้ชั้นตาไม่เท่ากัน ข้างหนึ่งลืมตาได้โตไม่เท่าอีกข้าง ซึ่งหากปล่อยไว้อาจบดบังการมองเห็นได้
- มักจะเบิ่งตา หรือเลิกหน้าผากยกคิ้วขึ้น
ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เปลือกตาด้านบนจะออกแรงยกขึ้นได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้หนังตาตกลงมาปิดทับตาดำกว่าปกติ หรืออาจทับตาดำมากจนปิดรูม่านตา ทำให้การมองเห็นลดลง ผู้ที่มีภาวะหนังตาตกจึงมักจะเบิ่งตา หรือเลิกหน้าผากยกคิ้วขึ้น เพื่อให้เปลือกตาไม่ตกลงมาบดบังการมองเห็น โดยปัญหาอื่นที่จะตามมาก็คือทำให้เกิดปัญหาริ้วรอยบริเวณหน้าผาก ดูมีอายุมากเกินกว่าวัย
- ขยี้ตาบ่อยๆ
อาการภูมิแพ้ รวมถึงการล้างเครื่องสำอางแบบรุนแรงเป็นประจำ จะทำให้เกิดอาการคันบริเวณเปลือกตา จนต้องขยี้ตาบ่อยๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลให้กล้ามเนื้อตายืดออก ทำให้เปลือกตาเกิดความหย่อนคล้อย มีลักษณะรอยพับของชั้นตาเป็นริ้วๆ จนดูตาปรือกว่าปกติ
- เบ้าตาลึกและชัดกว่าปกติ
ผู้มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จะมีเบ้าตาที่ลึกและชัดกว่าปกติ โดยจะมีลักษณะของร่องลึกอยู่เหนือเปลือกตา เนื่องจากไขมันใต้เปลือกตาหายไปจากตำแหน่งเบ้าตาที่ลึกนั้น ส่งผลให้ตาดูโหล ดูโทรม ดูเหมือนคนมีอายุเกินกว่าวัย
ความรุนแรงของภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
ความรุนแรงของภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
- ระดับปกติ คือ ระดับที่ขอบตาบนจะปิดลงมาคลุมตาดำลงมาไม่เกิน 1 มม.
- ระดับอ่อนแรงเล็กน้อย คือ ระดับที่ขอบตาบนจะปิดลงมาคลุมตาดำ 2-3 มม. ทำให้ดูไม่ค่อยสดใสคล้ายคนง่วงนอน
- ระดับปานกลาง คือ ระดับที่ขอบตาบนจะปิดลงมาคลุมตาดำ 3-4 มม. ทำให้ตาปรือ ดูคล้ายคนง่วงนอนตลอดเวลา
- ระดับรุนแรง คือ ระดับที่ขอบตาบนจะปิดลงมาคลุมตาดำมากกว่า 4 มม. ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น เหมือนมีอะไรมาปิดบังการมอง จึงควรรีบรักษาโดยด่วน
ผ่าตัดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง VS ทำตาสองชั้น ต่างกันยังไง
การผ่าตัดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง คือการผ่าตัดยกกล้ามเนื้อตาให้ตาเปิดโตมากขึ้น ซึ่งจะเป็นวิธีการผ่าตัดที่ลงลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ เพื่อปรับระดับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตา ทำให้สามารถเปิดตาได้ดีขึ้น แก้ปัญหาตาปรือจากภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง โดยจะมีความซับซ้อนแตกต่างจากการทำตาสองชั้น
การทำตาสองชั้นคือเทคนิคการสร้างชั้นตาให้รับกับดวงตา ทำให้ชั้นตาชัด ดวงตากลมโต ดูสดใสเป็นธรรมชาติ โดยจะมี 2 เทคนิคหลัก คือ
- เทคนิคแผลเล็กไม่ตัดหนังตาส่วนเกิน ช่วยแก้ปัญหาตาเล็ก ตาชั้นเดียว ตาหลบใน เหมาะสำหรับคนที่ต้องการมีตาสองชั้น แต่มีเนื้อหรือไขมันเปลือกตาน้อย
- เทคนิคกรีดตายาวเพื่อตัดหนังตาส่วนเกิน ช่วยแก้ปัญหาตาเล็ก ตาชั้นเดียว ตาหลบใน เหมาะสำหรับคนที่มีหางตาตก คนที่เคยทำตาสองชั้นจากที่อื่นมาแล้วและต้องการแก้ไข และคนที่มีเนื้อหรือไขมันบริเวณเปลือกตาเยอะ
ทั้งนี้ แม้จะเห็นว่าการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงและการทำตาสองชั้นเป็นการแก้ปัญหาคนละส่วนกัน แต่คนส่วนใหญ่มักนิยมทำทั้งสองอย่างควบคู่กันกันไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ทำให้ดวงตากลมโตสดใส ดูเป็นธรรมชาติ
ทำตา 2 ชั้น รักษาภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ไหม
ถ้าหากทำตาสองชั้นโดยที่มีระดับความรุนแรงของภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง ก็อาจได้ผลลัพธ์ที่ดี แต่ทั้งนี้ ดวงตาก็ยังอาจดูปรือ ดวงตาอาจดูไม่เท่ากัน หรือดูใหญ่กว่าที่ต้องการได้ เพราะการทำตาสองชั้นโดยที่ยังไม่รักษาภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เป็นเพียงการแก้ปัญหาในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาหลักของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงก็ยังไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังอยู่ดี
แต่ถ้าหากทำตาสองชั้นร่วมกับการแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงไปด้วยกัน จะเป็นการแก้ปัญหาหนังตาตกได้อย่างตรงจุดกว่า เนื่องจากการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เป็นการผ่าตัดลงลึกถึงระดับกล้ามเนื้อตา เพื่อให้ตาไม่ปรือ สามารถออกแรงลืมตาได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งได้ขนาดชั้นตาที่พอดี ชั้นตาสวยคมชัดอีกด้วย
วิธีรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
1. การรับประทานยา
โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงการรักษาด้วยการให้ยา ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาที่เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท กลุ่มยาสเตียรอยด์ และกลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้การรักษาด้วยวิธีนี้ ควรเข้ารับคำปรึกษาและการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาด้วยกลุ่มยาที่เหมาะสมตามอาการของแต่ละคนเท่านั้น
2. การผ่าตัดรักษา
รักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงด้วยวิธีผ่าตัด เป็นการผ่าตัดยกกล้ามเนื้อตาให้ตาเปิดโตมากขึ้น ซึ่งจะเป็นวิธีการผ่าตัดที่ลงลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ เพื่อปรับระดับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตา
3. บริหารกล้ามเนื้อตา
หากกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงไม่ผ่าตัด สามารถใช้วิธีรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงด้วยการบริหารกล้ามเนื้อตา โดยจะมี 2 วิธี คือ
- วิธีที่ 1 กลอกตาขึ้นบน-ลงล่าง กลอกตาไปทางขวา-ทางซ้าย ทำซ้ำ 2 รอบต่อวัน
- วิธีที่ 2 ยื่นนิ้วมือไปด้านหน้าให้อยู่กึ่งกลางระหว่างดวงตาทั้งสอง และเลื่อนเข้าหาดวงตาช้าๆ เมื่อเห็นนิ้วมือเป็นภาพซ้อนให้กลับไปเริ่มใหม่ โดยให้ทำซ้ำ 20 รอบ วันละ 3 ครั้ง
ผลลัพธ์หลังผ่าตัดรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
- ทำให้ดวงตาดูเท่ากัน ปรับระดับการเปิดตาให้พอดีเท่ากันทั้งสองข้าง
- ดวงตาดูเปิดขึ้น สามารถเห็นตาดำในระดับที่พอเหมาะ
- ลืมตาได้เต็มที่โดยไม่ต้องพยายามเบิ่งตา เลิกหน้าผาก หรือเลิกคิ้ว
- ไม่มีปัญหาชั้นตาซ้อนกันเป็นริ้ว หรือซ้อนกันเป็นตาสามชั้น
- หากทำร่วมกับการทำตาสองชั้น จะช่วยทำให้ดวงตากลมโตสดใส ชั้นตาโค้งสวยคมชัด
สรุป
แม้การทำตาสองชั้นจะไม่ใช่การรักษาภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง แต่ถ้าหากทำการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงและการทำตาสองชั้นทั้งสองอย่างควบคู่กันกันไป จะเป็นการแก้ปัญหาหนังตาตกได้ตรงจุดกว่า เพื่อผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ได้ทั้งรักษาภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ไปพร้อมๆ กับการได้ดวงตากลมโต ชั้นตาโค้งสวยคมชัด ดูสดใสเป็นธรรมชาติด้วย