ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นไหม ต้องทำอย่างไรบ้าง
การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสำคัญมาก หลายครั้งที่คนไข้มักจะไม่ชอบไปโรงพยาบาล จนเมื่ออาการร้ายแรงจนทนไม่ไหวถึงจะเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่างของแต่ละบุคคล หลายรายต้องเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงเพราะรักษาช้าเกินไป หากได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถชะลอโรคร้ายหรือรักษาให้หายขาดได้
ข้อดีของพนักงานทั่วไป คือมีการตรวจสุขภาพประจําปี ประกันสังคมเบิกตรงได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย เป็นสวัสดิการที่ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพได้ แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีสวัสดิการตรวจสุขภาพประจำปี หรือต้องการตรวจในโปรแกรมอื่นเพิ่มเติม สามารถเลือกซื้อโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีได้ตามสถานพยาบาลทั่วไป
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งให้บริการตรวจสุขภาพประจำปีด้วยโปรแกรมที่หลากหลาย สามารถเลือกตรวจตามโปรแกรมที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเอง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง การตรวจสุขภาพจำเป็นมากน้อยแค่ไหน โปรแกรม ตรวจสุขภาพต้องตรวจอะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ
การตรวจสุขภาพประจำปี
ตรวจสุขภาพประจำปี คือ การตรวจประเมินสุขภาพและร่างกายในภาวะที่ปกติไม่มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงและภาวะผิดปกติที่จะนำไปสู่แนวทางการป้องกันการเกิดโรค เช่น ค่าน้ำตาลในเลือดสูง ก็ควรงดเว้นการรับประทานส่วนผสมของน้ำตาล ที่อาจก่อให้เกิดโรคเบาหวาน เพื่อรู้เท่าทันความผิดปกติของร่างกายก่อนจะเกิดโรค ทำให้ช่วยป้องกันและวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ทำไมจึงต้องตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นสิ่งที่หลายคนอาจมองข้าม และคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะส่วนมากไม่มีอาการ ตราบจนเมื่อเจ็บหนักแล้วค่อยไปโรงพยาบาล การละเลยการให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพประจำปี อาจทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายบานปลาย การตรวจสุขภาพประจำปีมีความจำเป็นด้วยเหตุดังนี้
- ช่วยป้องกันหรือค้นหาโรคและภาวะผิดปกติในร่างกาย เพราะบางโรคไม่แสดงอาการ
- เป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถต่อสู้กับโรคร้ายได้ดีที่สุด สามารถวางแผนในการรักษาอย่างเหมาะสม ป้องกันโรคไม่ให้ลุกลาม
- ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตได้
ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรบ้าง
การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสำคัญมาก เพราะโรคร้ายแรงบางโรคก็ไม่มีอาการในระยะแรก จึงมีความจำเป็นที่ต้องตรวจสุขภาพ โดยทั่วไปแล้วเริ่มตรวจสุขภาพได้ตั้งแต่อายุ 20 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับภาวะสุขภาพ อายุ ประวัติครอบครัว ผู้มีความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพ มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน สามารถแบ่งได้ดังนี้
- อายุ 30-40 ปี ควรตรวจค่าสายตา ระบบเม็ดเลือด น้ำตาล ไขมัน ตับ กรดยูริก ความยืดหยุ่นของเลือด เอกซ์เรย์ปอด ตรวจการทำงานหัวใจ อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ
- อายุ 40-50 ปี ตรวจร่างกายอย่างละเอียดมากขึ้น เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็ง การทำงานของปอด หัวใจ
- เพศชาย ควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก
- เพศหญิง ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านมด้วยเครื่อง Mammogram
- อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ตรวจทุกอย่าง และเพิ่มเติมการค้นหาโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง และภูมิคุ้มกันลดลง เป็นต้น
ยิ่งมีอายุมากขึ้นก็ยิ่งต้องตรวจละเอียดเพิ่มมากขึ้นตามวัย และผู้หญิงมักจะเกิดโรคได้ง่ายกว่าผู้ชาย จึงมีความจำเป็นที่ต้องตรวจสุขภาพเพิ่มขึ้น การตรวจสุขภาพประจําปี ตรวจอะไรบ้าง มีข้อมูลดังนี้
รายการตรวจสุขภาพ | อายุ 30-40 ปี | อายุ 40-50 ปี | อายุ 50 ปีขึ้นไป |
1. ตรวจสุขภาพโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ (Physical Examination) | / | / | / |
2. วัดความดัน ชีพจร ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง (Vital Signs) | / | / | / |
3. เอกซเรย์ปอด (Chest X-ray) | / | / | / |
4. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography: EKG) | / | / | / |
5. ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Lower Abdomen) | / | / | / |
6. ตรวจปัสสาวะ (Urine Examination: UA) | / | / | / |
7. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด Complete Blood Count: CBC) | / | / | / |
8. ตรวจติดตามควบคุมเบาหวาน (HbA1c) | / | / | / |
9. ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar: FBS) | / | / | / |
10. ตรวจการทำงานของไต (Creatinine) | / | / | / |
11. ตรวจการทำงานของไต (BUN) | / | / | / |
12. ตรวจการทำงานของตับ (SGOT) | / | / | / |
13. ตรวจการทำงานของตับ (SGPT) | / | / | / |
14. ตรวจการทำงานของตับ (Alk Phosphatase) | / | / | / |
15. ตรวจไวรัสตับอักเสบ | / | / | / |
16. ตรวจปริมาณไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด (Total Cholesterol) | / | / | / |
17. ตรวจปริมาณไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด (Triglyceride) | / | / | / |
18. ตรวจปริมาณไขมันดีในเลือด (HDL-Cholesterol) | / | / | / |
19. ตรวจปริมาณไขมันไม่ดีในเลือด (LDL-Cholesterol) | / | / | / |
20. ตรวจระดับกรดยูริก (Uric Acid) | / | / | / |
21. ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (Alpha Fetoprotein: AFP) | / | / | / |
22. ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งทางเดินอาหาร (CEA) | / | / | / |
23. ตรวจสายตา (สั้น/ยาว/บอดสี) และความดันลูกตา (Vision) | / | / | / |
24. สารบ่งชี้มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ สำหรับเพศหญิง | / | / | |
25. สารบ่งชี้มะเร็งปากมดลูก สำหรับเพศหญิง | / | / | / |
26. สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก สำหรับเพศชาย | / | / | |
27. ส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ | / | / | |
28. ตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน | / | / | |
29. ตรวจมวลกระดูก | / | ||
30. ตรวจหลอดเลือดหัวใจอุดตัน | / | ||
31. ตรวจวัดระดับสารอาหารวิตามิน | / | ||
32. ตรวจเนื้อสมอง โรคสมองขาดเลือด เนื้อสมองฝ่อ มะเร็งสมอง | / | ||
33. ตรวจโรคปอด มะเร็งปอด | / | ||
34. ตรวจวัดไขมันช่องท้อง เพื่อบอกความเสี่ยงของโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง | / | ||
35. ตรวจการอุดตันและการไหลเวียนเลือดของเส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณคอที่นำเลือดไปเลี้ยงสมอง | / |
ตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับช่วงอายุต่ำกว่า 30 ปี
ผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี มีสุขภาพดี และยังไม่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายต่าง ๆ มักเป็นการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไป ซักประวัติทางสุขภาพ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ระดับน้ำตาลในเลือดเบื้องต้น
ตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับอายุ 30 ปีขึ้นไป
มีการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างละเอียดมากขึ้น เพราะสุขภาพร่างกายมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ความเครียด และการพักผ่อน จึงต้องตรวจหาความผิดปกติเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
รายละเอียดการตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอย่างละเอียดตามคุณสมบัติของแต่ละบุคคล เช่น อายุ เพศ หรือประวัติของครอบครัว การตรวจสุขภาพแต่ละช่วงวัย เพื่อวินิจฉัยความเสี่ยงการเกิดโรค สามารถบ่งชี้ได้ดังนี้
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อหาค่าความผิดปกติของเลือด เช่น ภาวะโลหิตจาง
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคเบาหวาน
- ตรวจระดับไขมันในเลือด เพื่อดูระดับคอเลสเตอรอล สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง คอเลสเตอรอลสูงส่วนมากพบในผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี จากการไม่ระวังในการรับประทานอาหาร
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาโรคในระบบทางเดินปัสสาวะและโรคเบาหวาน
- ตรวจอุจจาระ เพื่อหาโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น การติดเชื้อในลำไส้ โรคมะเร็งทางเดินอาหารและลำไส้
- เอกซเรย์ปอด ดูความผิดปกติของอวัยวะในทรวงอก เพื่อประเมินโรคปอด โรคหัวใจ
- อัลตราซาวด์ช่องท้องช่วยตรวจหามะเร็งปากมดลูกและรังไข่ในเพศหญิง และมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย
- ตรวจมะเร็งเต้านมสำหรับเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เพื่อคัดกรองการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
- ตรวจเนื้อสมอง เพื่อหาสิ่งบ่งชี้ของการเกิดโรคสมองขาดเลือด สมองฝ่อ มะเร็งสมอง เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ
วิธีเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพประจำปีควรทำการนัดหมายล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ และใช้เวลาตรวจประมาณ 1-2 ชั่วโมง ผู้ตรวจควรงดอาหารและเครื่องดื่ม 8 – 12 ชั่วโมงก่อนตรวจ สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ และทราบผลการตรวจภายในวันที่ทำการตรวจ หากไม่สะดวกที่จะรอฟังผล ทางโรงพยาบาลจะส่งผลการตรวจสุขภาพให้ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ โดยก่อนตรวจสุขภาพ เตรียมตัวดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ 6- 8 ชั่วโมง
- ก่อนตรวจสุขภาพอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- ควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อความสะดวกในการตรวจสุขภาพ และเป็นชุดแยกชิ้น เสื้อ กางเกง ไม่สวมเสื้อชั้นในแบบเต็มตัว
- สำหรับผู้หญิง หากตังครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนตรวจ
ข้อสรุป
การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสำคัญมาก เนื่องจากโรคที่พบมากในประเทศไทย มักไม่มีอาการในระยะแรก และถ้าปล่อยไว้จะลุกลามจนกลายเป็นโรคเรื้อรังยากต่อการรักษา การตรวจสุขภาพเป็นการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอย่างละเอียดตามคุณสมบัติของแต่ละบุคคล โดยแพทย์แนะนำว่าให้ตรวจสุขภาพประจำปีทุก ๆ 1 ปี เพื่อตรวจสอบสภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการตรวจสุขภาพคือพื้นฐานการดูแลคุณภาพชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ยาวนาน