ภาวะไข่ไม่ตก เกิดจากอะไร? รักษายังไง? สาเหตุหลักการมีบุตรยาก
มีผู้หญิงหลายคนที่ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือมา ๆ หาย ๆ สาเหตุสำคัญเกิดจากการที่ไข่ไม่ตก ผู้หญิงที่มีอาการเช่นนี้เป็นประจำ นั่นแปลว่าคุณอยู่ในภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ซึ่งภาวะนี้จะส่งผลต่อสุขภาพได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตามก็ยังมีแนวทางในการรักษาได้อยู่ค่ะ
ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (Anovulation)
ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือ Anovulation คือ การไม่มีฟองไข่ตกออกมาจากรังไข่ แปลว่าร่างกายก็จะไม่มีประจำเดือน ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกก่อตัวหนาขึ้นและมีการหลุดลอกที่ผิดปกติได้
การตกไข่มีกระบวนการทำงานอย่างไร
ปกติใน 1 เดือนจะมีการตกไข่ 1 ครั้ง ซึ่งไข่ที่ตกมาพร้อมรับการผสมกับอสุจิในแต่ละเดือนจะมีช่วงเวลาเพียง 12-24 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งหากไข่ไม่ตกก็จะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้
ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังเกิดจากสาเหตุใด
ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง เกิดจากอะไรได้บ้าง ไปดูกันค่ะ
1. ความผิดปกติของไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมอง
กระบวนการตกไข่จะทำงานร่วมกันระหว่างรังไข่, ไฮโปทาลามัส และต่อมใต้สมอง ซึ่งหากไฮโปทาลามัส หรือต่อมใต้สมองมีการทำงานที่ผิดปกติ ก็จะส่งผลให้ไข่ไม่ตก
2. ผลข้างเคียงจากภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS)
คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติในหลาย ๆ ระบบส่งผลให้การตกไข่มีความผิดปกติตามไปด้วย มีถุงน้ำเล็ก ๆ ในรังไข่ พบมากในหญิงวัยเจริญพันธุ์
3. ภาวะไข่ตกน้อยลง (DOR)
เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ ช่วงอายุ, สูบบุหรี่, เคยผ่านการรักษาด้วยเคมีบำบัด, โรคที่เกี่ยวกับท่อนำไข่, ติดเชื้ออุ้งเชิงกราน และมีความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นต้น
4. ฮอร์โมนไม่สมดุล
ได้แก่ GnRH ฮอร์โมนที่ผลิตโดยไฮโปทาลามัส, FSH ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญของไข่ และ LH ฮอร์โมนที่สร้างขึ้นโดยต่อมใต้สมอง ฮอร์โมนเหล่านี้หากมีปริมาณที่ไม่สมดุลก็จะส่งผลต่อการตกไข่ทั้งสิ้น
5. ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (POI)
เป็นภาวะที่รังไข่หยุดทำงานก่อนวัย 40 ปี ร่างกายจะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ ส่งผลให้มีบุตรยากนั่นเอง
ปัจจัยเสี่ยงภาวะไข่ไม่ตกมีอะไรบ้าง
- ผู้มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
- รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร
- ออกกำลังกายหนักเกินไป
- น้ำหนักตัวน้อยหรือมากเกินไป
- มีอาการเครียดมาก
- วัยใกล้หมดประจำเดือน (วัยทอง)
อาการส่งสัญญาณภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
- 2-3 เดือน จะมีประจำเดือนเพียง 1 ครั้ง หรือปีละ 1-2 ครั้ง
- ผิวมัน หน้าเป็นสิว
- อยู่ในภาวะมีบุตรยาก
- ประจำเดือนมากระปริบกระปรอยเป็นเวลานาน
การวินิจฉัยภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
แพทย์จะเจาะเลือด เพื่อตรวจฮอร์โมนเพศหญิง โดยหลังการตกไข่ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะสูงขึ้น แต่หากไม่สูงขึ้น แปลว่าไข่ไม่ตก กับอีกวิธีคือ การอัลตร้าซาวด์รังไข่
ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังกับการตั้งครรภ์
การตกไข่ที่ไม่ปกติ โอกาสการตั้งครรภ์มีอยู่ แต่ก็น้อย แต่ถ้าหากไข่ไม่ตกเลย จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เลย
แนวทางการรักษาภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
ไข่ไม่ตกเรื้อรัง มีวิธีรักษายังไง ไปดูกันค่ะ
1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ตั้งแต่การออกกำลังกาย ใส่ใจเรื่องโภชนาการ งดหวาน และไขมันทรานส์ เน้นอาหารโปรตีนสูง
2. การใช้ยากระตุ้นไข่
มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ยารับประทาน และยาฉีด โดยยารับประทานจะทานในช่วงวันที่ 3-5 ของการมีประจำเดือน 1-3 ครั้งเม็ด 5 วัน ส่วนยาฉีดอาจใช้ร่วมกับยาทาน หรืออาจฉีดอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
3. การผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่
ด้วยการผ่าตัดจี้ถุงรังไข่ออก แต่จะได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น
วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
- ควบคุมอาหาร และน้ำหนัก
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงความเครียด
คำถามที่พบบ่อย
ไข่ไม่ตกสามารถท้องได้ไหม?
หากไข่ไม่ตกจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากไม่มีไข่ที่มารองรับการผสมกับอสุจิ
ไข่ไม่ตกแต่ท้อง เกิดจากอะไร?
อาจเกิดจากความคลาดเคลื่อนของผลตรวจที่ไม่แม่นยำ ทั้งนี้ หากไม่มั่นใจว่าตนเองอยู่ในภาวะไข่ไม่ตกหรือไม่ แนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อตรวจฮอร์โมนซึ่งได้ผลที่แม่นยำกว่า
ข้อสรุป
ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุสามารถรักษาได้ด้วยตนเองก่อน แต่ในขณะที่บางสาเหตุต้องเข้ารับคำปรึกษาและการรักษาจากแพทย์ ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือนาน ๆ มาที แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุดค่ะ