โรคข้ออักเสบ โรคอันตรายใกล้ตัวที่ควรรู้

หากคุณมีอาการปวด บวม บริเวณข้อต่อ นั่นอาจเป็นสัญญาณอาการของโรคข้ออักเสบ โดยโรคข้ออักเสบนั้นมีอันตรายกว่าที่หลาย ๆ คนคิด หากปล่อยปะละเลยจนอาการรุนแรงขึ้น อาจทำให้การเคลื่อนไหวข้อต่อทำได้ยาก หรืออาจนำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อต่อเลยก็ได้ 

เรามาทำความรู้จักกับโรคข้ออักเสบกันว่าโรคข้ออักเสบคืออะไร อาการเป็นอย่างไรบ้าง มีกี่ชนิด แนวทางในการวินิจฉัยโรคว่าคุณเป็นโรคข้ออักเสบหรือไม่ และหากเป็นโรคข้ออักเสบจะมีวิธีการรักษาโรคข้ออักเสบอย่างไร

โรคข้ออักเสบ (Arthritis)

โรคข้ออักเสบ (Arthritis)

โรคข้ออักเสบ (Arthritis) คือ โรคที่เกิดจากข้อต่อกระดูกเกิดการอักเสบ อาการของโรคข้ออักเสบนั้นผู้ป่วยจะรู้สึกปวดข้อ ข้อบวมแดง ข้อติด กดเจ็บบริเวณข้อต่อ ขยับข้อต่อได้ลำบาก แต่อย่างไรก็ตามอาการของโรคข้ออักเสบอาจเกิดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรคหรือสาเหตุของการเกิดโรค 

โดยโรคข้ออักเสบนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่างเช่น ข้ออักเสบตามวัย การบาดเจ็บบริเวณข้อ การสะสมของผลึกยูริก และมักจะสัมพันธ์กับโรคข้อหรือโรคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อเสื่อม เป็นต้น 

โรคข้ออักเสบนั้นสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ได้เป็นโรคจำกัดเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับโรคข้ออักเสบ เมื่อเรารู้จักโรคแล้วเราก็สามารถหลีกเลี่ยงและลดโอกาสการเกิดโรคได้มากขึ้น


โรคข้ออักเสบ อาการเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบมักจะมีอาการเหล่านี้

  • อาการปวดข้อ เจ็บข้อบริเวณที่เกิดโรคข้ออักเสบ
  • ข้อบวม มีรอยแดงบริเวณที่เกิดข้ออักเสบ เมื่อสัมผัสอาจรู้สึกถึงความร้อนเนื่องจากการอักเสบ
  • การเคลื่อนไหวข้อต่อที่เกิดโรคข้ออักเสบทำได้น้อยลง หรืออาจเกิดอาการข้อติด

โดยอาการของโรคข้ออักเสบในเด็กเล็กอาจสังเกตได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นวัยที่ไม่น่าเกิดโรคข้ออักเสบ ทำให้เกิดการปล่อยปะละเลย หรือการเคลื่อนไหวที่ไม่มาก ทำให้อาจไม่ทันสังเกตว่าอาจเป็นโรคข้ออักเสบ 

โรคข้ออักเสบนั้นยังสามารถแบ่งประเภทของโรคได้อีกหลายประเภท ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อถัดไป


โรคข้ออักเสบ มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

โรคข้ออักเสบสามารถแบ่งประเภทของโรคจากสาเหตุของการเกิดโรคได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

  • โรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลันข้อเดียว เช่น โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ โรคเก๊าท์
  • โรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลันหลายข้อ เช่น โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย
  • โรคข้ออักเสบชนิดเรื้อรังรูมาตอยด์ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคจากภูมิคุ้มกัน แพ้ภูมิตัวเอง SLE
  1. โรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลันข้อเดียว

โรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลันข้อเดียวเกิดจากการอักเสบของข้อต่อในข้อต่อหนึ่ง สามารถเกิดได้จากการใช้งานที่มากเกินขีดจำกัดร่างกาย หรือการติดเชื้อบริเวณข้อ หรือเกิดจากการสะสมของกรดยูริกบริเวณข้อต่อ 

  1.  โรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลันหลายข้อ

โรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลันหลายข้อเกิดจากการอักเสบบริเวณข้อต่อหลาย ๆ ข้อ มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส

  1. โรคข้ออักเสบชนิดเรื้อรังจากรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบชนิดเรื้อรังรูมาตอยด์จะมีอาการปวดข้อที่แตกต่างจากการปวดข้อจากสาเหตุอื่น คือมักจะปวดข้อขณะที่ไม่ได้ใช้งาน และมักจะปวดข้อเล็ก ๆ อย่างนิ้วมือ นิ้วเท้า และมักจะเป็นเรื้อรังไม่หายขาด 


โรคข้ออักเสบ สาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง

โรคข้ออักเสบ สาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง

โรคข้ออักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งข้ออักเสบที่ทราบสาเหตุแน่ชัดและข้ออักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ แต่อย่างไรก็ตามโรคข้ออักเสบสามารถเกิดขึ้นได้จากการมีปัจจัยบางอย่างไปกระตุ้นให้เกิดโรคได้ง่ายและเร็วขึ้น ดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดโรคข้ออักเสบ

  • ผู้สูงอายุ เนื่องจากข้อต่อได้ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคข้ออักเสบมาก่อน มักจะมีโอกาสเป็นโรคข้ออักเสบสูงกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน ข้อต่อต้องรับแรงกดที่มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ข้อต่อเสื่อม อักเสบได้ไวขึ้น
  • โรคข้อต่ออักเสบที่มักพบในเพศใดเพศหนึ่งที่มากกว่า เช่นในโรครูมาตอยด์ที่พบในเพศหญิงมากกว่า หรือโรคเก๊าท์ที่พบในเพศชายมากกว่า
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส
  • อุบัติเหตุที่ทำให้ข้อต่อเกิดการบาดเจ็บ
  • ผู้ที่เป็นโรคอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ข้อต่ออักเสบได้ง่ายขึ้น เช่น โรคข้อเสื่อม โรคเก๊าท์ โรครูมาตอยด์ เป็นต้น

เมื่อเกิดอาการแบบนี้ควรพบแพทย์

หากมีอาการปวด บวมแดงบริเวณข้อต่อ ขยับ เคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อได้ยากกว่าปกติ ปวดข้อต่อช่วงระหว่างนอนหลับ หลังตื่นนอน เป็นระยะเวลานาน ไม่สามารถหายได้ด้วยการพักการใช้งาน การกินยาแก้ปวดหรือทายาด้วยตนเอง หรือมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ไม่สามารถหายขาดได้ หรืออาจมีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อนขึ้นอย่างเช่นน้ำหนักลด เวียนหัว เป็นไข้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวินิจฉับโรคต่อไป


การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบ

การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบ

การวินิจฉัยโรคข้อต่ออักเสบโดยแพทย์ แพทย์จะทำการสักประวัติผู้ป่วยเบื้องต้น และดูสภาพข้อต่อที่มีอาการผิดปกติ อย่างอาการปวด บวมแดง และความร้อนของข้อต่อ และความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อต่อว่ามีอาการข้อติด หรืออาการปวดระดับใด เพื่อจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบคำวินิจฉัยโรคข้ออักเสบว่าอยู่ระดับใด หรือเป็นโรคข้ออักเสบประเภทไหน

และนอกจากการตรวจร่างกายทั่วไปแล้วแพทย์อาจส่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคข้ออักเสบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ได้แก่

  • การตรวจทางจุลชีววิทยาทางการแพทย์

แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างในรูปแบบของเหลวจากผู้ป่วย เช่น เลือด ปัสสาวะ น้ำไขข้อ และนำไปส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ การตรวจด้วยวิธีนี้จะทำให้ทราบว่าโรคข้ออักเสบที่เป็นนั้นเกิดจากสาเหตุใด เช่น หากพบเชื้อแบคทีเรียในน้ำไขข้อหมายความว่าผู้ป่วยเกิดโรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ หรือหากพบกรดยูริกมากหมายความว่าผู้ป่วยเกิดโรคข้ออักเสบจากโรคเก๊าท์ เป็นต้น

  • การตรวจสภาพข้อต่อด้วยการถ่ายภาพ

แพทย์จะให้ผู้ป่วยเข้ารับการถ่ายภาพทางการแพทย์ อย่างเช่น การเอกซเรย์ การทำ MRI, CT scan หรือ Ultrasound ซึ่งภาพถ่ายที่ได้จะทำให้เห็นถึงสภาพของข้อต่อของผู้ป่วย ว่ามีการอักเสบหรือโครงสร้างของกระดูกข้อต่อเปลี่ยนไปอย่างไร


วิธีรักษาโรคข้ออักเสบ

การรักษาโรคข้ออักเสบนั้นเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อบรรเทาอาการปวดจากโรค ชะลอความรุนแรงของโรคข้อต่ออักเสบ และฟื้นฟูประสิทธิภาพการใช้งานของข้อต่อเพื่อให้ข้อต่อสามารถกลับมาใช้งานได้ดีขึ้น โดยการรักษาโรคข้อต่ออักเสบสามารถแบ่งวิธีการรักษาได้ 3 วิธี ดังนี้

รักษาด้วยการใช้ยา

ยาที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบมีหลากหลายชนิด แพทย์จะจ่ายยาให้ผู้ป่วยตามประเภทของโรคข้ออักเสบ และตามระดับความรุนแรงของโรคข้ออักเสบ โดยยาแต่ละชนิดมีออกฤทธิ์และมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล
  • ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ใช้ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบที่มีอาการปวดระดับปานกลาง ช่วยลดอาการปวดได้เป็นอย่างดี แต่มีปผลข้างเคียงมาก เช่น อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร คลื่นไส้ เป็นต้น
  • ยาลดการอักเสบกลุ่ม DMARDs ใช้ในผู้ป่วยที่ผ่านการใช้ยากลุ่ม NSAIDs มาเป็นระยะเวลานานแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือในผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง
  • ยาต้านการระคายเคือง (Counterirritants) อยู่ในรูปแบบของยาทาภายนอก
  • ยาลดอาการอักเสบและกดภูมิคุ้มกัน (Corticosteroids) ใช้ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • ยาเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (Biologic response modifiers) ใช้ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ

ข้อควรระวังสำหรับการรักษาโรคข้ออักเสบด้วยการทานยา ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาให้เท่านั้น

รักษาโรคข้ออักเสบด้วยการทำกายภาพบำบัด

จุดประสงค์ของการทำกายภาพบำบัดคือการฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงานของข้อต่อ ช่วยให้ข้อต่อสามารถกลับมาใช้งานได้ดีขึ้น โดยนักกายภาพบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อต่อให้แข็งแรง สามารถพยุงและช่วยรับแรงกระแทกแทนข้อต่อในระยะยาว เหมาะกับผู้ป่วยโรคข้อต่ออักเสบที่ยังมีระดับความรุนแรงของโรคน้อยจนถึงปานกลาง 

รักษาโรคข้ออักเสบโดยการผ่าตัด

การรักษาโรคข้อต่ออักเสบด้วยการผ่าตัดนั้น แพทย์จะเลือกวิธีนี้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยโรคข้อต่ออักเสบมีระดับความรุนแรงของโรคมาก ผ่านการรักาาแบบประคับประคองอย่างการใช้ยาหรือการทำกายภาพบำบัดแล้วไม่ได้ผลหรือให้ผลน้อย การผ่าตัดโรคข้ออักเสบมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับลักษณะของโรค ดังนี้

  • การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมข้อต่อ
  • การผ่าตัดเพื่อเชื่อมข้อต่อ
  • การผ่าตัดเพื่อปรับแนวข้อให้ตรงขึ้น
  • การผ่าตัดเพื่อเลาะเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบออก
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อเทียม

วิธีป้องกันโรคข้ออักเสบ

วิธีป้องกันโรคข้ออักเสบ

โรคข้ออักเสบบางชนิดที่มีสาเหตุจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายตัวเอง หรือจากพันธุกรรมนั้นไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ แต่โรคข้ออักเสบที่เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรคนั้นสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ ดังนี้

  1. การออกกำลังกาย โดยวิธีการออกกำลังกายนั้นควรหลีกเลี่ยงท่าที่มีการใช้ข้อต่อ ทำให้ข้อต่อเกิดการกระแทกอย่างหนัก อย่างการกระโดด เป็นต้น ควรเน้นการออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อต่อให้แข็งแรง เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อต่อสามารถช่วยพยุงข้อต่อได้ และควรทำอย่างสม่ำเสมอ
  2. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้ข้อต่อเกิดการบาดเจ็บ หรือทำให้ข้อต่อต้องทำงานหนัก เช่น การยกของหนัก
  3. หากเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อ ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุนั้นเป็นสาเหตุของการเกิดโรคข้อต่ออักเสบขึ้นได้
  4. รับประทานอาการให้ครบ 5 หมู่ และอาหารที่ช่วยบำรุงกระดูกและข้อต่ออย่างกรดไขมันโอเมก้า 3
  5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และควันจากบุหรี่

รักษาโรคข้ออักเสบ ที่ไหนดี

หากรู้สึกถึงอาการปวดข้อ ข้อบวม คล้ายกับโรคข้ออักเสบ และอยากเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการตรวจโรคและหาแนวทางการรักษาโรคที่ถูกต้อง ควรพบแพทย์ที่มีความชำนาญด้านกระดูกและข้อ และมีประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ 

เนื่องจากโรคข้ออักเสบในเบื้องต้นนั้นมักจะมีอาการที่ไม่ชัดเจน หากแพทย์ที่ไม่เชี่ยวชาญอาจมองข้ามโรคนี้และทำให้ผู้ป่วยรับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง และทำให้ผู้ป่วยรู้ตัวอีกทีก็เป็นโรคข้ออักเสบรุนแรงแล้วก็เป็นได้ 


สรุป

โรคข้ออักเสบที่เป็นโรคที่มีอาการเฉพาะจุดอย่างข้อต่อ อาจดูไม่อันตราย แต่แท้จริงแล้วโรคข้อต่ออักเสบหากปล่อยทิ้งไว้ก็สามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีอาการที่คล้ายกับโรคข้ออักเสบอย่างการปวดข้อ ข้อบวมร้อนแดง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ วินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป