|

ต้อกระจก (Cataract) อย่าละเลย ไม่เช่นนั้นอาจสายเกินแก้

ต้อกระจก

โรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับดวงตานั้นมีอยู่มากมายหลายโรคด้วยกัน และหนึ่งในโรคที่คนค่อนข้างเป็นกันมากก็คือโรคต้อกระจก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะพบในผู้สูงอายุ แม้ว่าช่วงวัยอื่นก็สามารถพบภาวะนี้ได้เช่นกัน แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

โดยโรคต้อกระจกนี้สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นภาพเบลอ หรือมองสีเพี้ยนจากความเป็นจริง 

ซึ่งในบทความนี้เราจะมาบอกถึงรายละเอียดของโรค และข้อมูลต่าง ๆ มากมายให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับโรคต้อกระจกนี้กัน ไม่ว่าจะเป็นอาการที่ควรสังเกต วิธีในการรักษา วิธีการป้องกัน รวมไปถึงคำถามหรือข้อสงสัยอื่น ๆ ที่สามารถพบได้บ่อย

ทำความรู้จัก ต้อกระจก (Cataract) คืออะไร

โรคต้อกระจก

ต้อกระจก คือโรคชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นกับดวงตา ซึ่งเป็นภาวะที่เลนส์ตาเกิดความเปลี่ยนแปลง จากที่โดยปกติแล้วจะมีลักษณะเป็นสีใส เปลี่ยนไปจนมีลักษณะขุ่นมัว จึงทำให้เลนส์ตาที่มีหน้าที่ช่วยในการรวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตานั้นถูกบดบัง และส่งผลให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปในดวงตาได้ 


ต้อกระจกเกิดจากอะไร

โดยทั่วไปแล้วโรคต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมสภาพตามช่วงอายุ มีสาเหตุมาจากความเสื่อมของโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของเลนส์ตา จนทำให้เลนส์ตามีความขุ่นมัวและแข็งมากขึ้น ซึ่งมักจะพบต้อกระจกในผู้สูงอายุที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

ต้อกระจกเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ผู้สูงอายุมักมีโอกาสเป็นต้อกระจก

อาการตาเป็นต้อกระจกสามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งสาเหตุของการเกิดต้อกระจกในผู้สูงอายุส่วนมากก็คือเรื่องของอายุ เมื่ออายุมากขึ้นเลนส์ตาก็จะเสื่อมลงโดยธรรมชาติจึงทำให้ตาเป็นต้อกระจก นอกจากนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่ออายุเพิ่มขึ้นโรคต่างๆ ก็นำไปสู่ภาวะตาเป็นต้อกระจกได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เบาหวาน หรือผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น

แต่ถ้าหากผู้สูงอายุมีการใช้สายตาภายใต้แสงแดดที่มากเกินไป หรือทำให้ดวงตาต้องต่อสู้กับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่มาจากแสงแดดอยู่บ่อยๆ ในช่วงวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ก็จะส่งผลให้เลนส์ตาเสื่อมเร็วขึ้นจนเป็นอาการต้อกระจกได้ในช่วงวัยชรา หากไม่ได้ดูแลรักษาดวงตาให้ดีอาจมีอาการต้อกระจกระยะเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปก็ได้

สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดต้อกระจก

แต่โรคต้อกระจกก็สามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน ได้แก่

  • ถ้าหากมีการติดเชื้อหัดเยอรมันในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ ลูกก็อาจเป็นต้อกระจกจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดได้
  • มีโรคประจำตัวที่ส่งผลให้เกิดต้อกระจก เช่น ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ หรือโรคเบาหวาน
  • มีโรคทางตา เช่น สายตาสั้นมาก ตาติดเชื้อ หรือม่านตาอักเสบ
  • เคยได้รับการผ่าตัดตามาก่อน
  • เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตา หรือได้รับการกระทบกระเทือนบ่อย ๆ 
  • ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นระยะเวลานาน
  • เคยได้รับการฉายรังสีในส่วนบนของร่างกาย หรือบริเวณศีรษะ
  • มีการใช้ยาในกลุ่มสเตอรอยด์เป็นระยะเวลานาน

อาการต้อกระจก

โดยปกติของโรคต้อกระจก อาการที่จะสามารถพบได้บ่อยที่สุดก็คือการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน ภาพดูขุ่นมัวเหมือนมีหมอกบัง มองเห็นภาพซ้อน ตาพร่า สู้แสงสว่างไม่ได้ มองเห็นแสงไฟกระจัดกระจาย หรือการมองเห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม

อาการต้อกระจก

ต้อกระจกมีกี่ระยะ ระยะไหนควรเริ่มพบแพทย์

ซึ่งอาการของต้อกระจกจะสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายระยะด้วยกัน และในหัวข้อนี้เราจะมาดูกันว่าต้อกระจกมีกี่ระยะ และระยะไหนควรเริ่มพบแพทย์

ต้อกระจกมีกี่ระยะ
  • ต้อกระจกระยะเริ่มแรก

ในระยะนี้เลนส์ตาจะเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย โดยจะมีอาการคือตาสามารถเปลี่ยนโฟกัสได้ยากขึ้น โฟกัสได้ไม่ชัดเท่าที่ควรเป็น มองเห็นแสงสะท้อนจากดวงไฟ รวมถึงการเกิดอาการเมื่อยล้าตาได้ง่าย

  • ต้อกระจกระยะก่อนต้อแก่

ในระยะนี้เลนส์ตาจะมีความขุ่นมากขึ้น โดยมักจะเริ่มขุ่นมาจากตรงกลางเลนส์ตา เมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะนี้ควรพบแพทย์ทันที ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ใช้แว่นที่ช่วยในการมองเห็นและการตัดแสงสะท้อน เพื่อให้มีการมองเห็นที่ดีขึ้น

  • ต้อกระจกระยะต้อแก่หรือต้อสุก

ในระยะนี้เลนส์ตาจะมีความขุ่นลามไปจนถึงบริเวณขอบเลนส์ โดยระยะนี้จะมีปัญหาต่อการดำรงชีวิต ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อรักษาต้อกระจก

  • ต้อกระจกระยะต้อสุกเกิน

ในระยะนี้เลนส์ตาที่ขุ่นมัวไปทั้งเลนส์ตาแล้วนั้นจะมีความขุ่นมากขึ้นไปอีก ส่งผลให้สายตามัวอย่างมาก และยังอาจเกิดการอักเสบภายในดวงตาเนื่องจากการรั่วของโปรตีน รวมไปถึงการเกิดต้อหินอีกด้วย ซึ่งในระยะนี้จะทำการผ่าตัดเพื่อรักษาต้อกระจกได้ยากกว่า


การตรวจวินิจฉัยต้อกระจก

ในการวินิจฉัยโรคต้อกระจกนั้นแพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้เบื้องต้น และทำการตรวจทดสอบดวงตาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการวัดค่าสายตา ทดสอบการมองเห็น ทดสอบปฏิกิริยาต่อแสง ความดันลูกตา ไปจนถึงการตรวจดูการขยายของรูม่านตา


วิธีรักษาต้อกระจก

หลาย ๆ คนอาจมีความกังวลว่าต้อกระจกรักษาหายไหม ทุกคนสามารถคลายความกังวลได้เลย เพราะต้อกระจกนั้นสามารถที่จะรักษาให้หายได้ เพียงแต่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเท่านั้น โดยวิธีในการรักษาต้อกระจกนั้นจะแบ่งออกไปตามระยะของอาการ ซึ่งการรักษาต้อกระจกมีกี่วิธีบ้างนั้น เราไปดูพร้อม ๆ กันเลย


วิธีรักษาต้อกระจกระยะเริ่มแรก

สำหรับผู้ที่เป็นต้อกระจกในระยะเริ่มแรกนั้นสามารถที่จะรักษาต้อกระจกโดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษาตามอาการ และตัดแว่นเพื่อปรับค่าสายตาหรือแว่นที่ช่วยในการตัดแสงสะท้อน 


วิธีรักษาต้อกระจกด้วยการผ่าตัด

ผ่าตัดต้อกระจก
Intraocular lens implant isolated on white

สำหรับผู้ที่เป็นต้อกระจกแล้วมีอาการหนักขึ้น หรืออยู่ในระยะต้อแก่ จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีผ่าตัดในการรักษา โดยการผ่าตัดรักษาต้อกระจกนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้

  1. การผ่าตัดแบบแผลเปิดกว้าง

การผ่าตัดรักษาต้อกระจกด้วยวิธีนี้นั้นจะเป็นการเปิดปากแผลที่ด้วยตาด้วยขนาด 6-10 มิลลิเมตร โดยนำเลนส์ส่วนที่แข็งออกมา และใช้เครื่องมือในการดูดเนื้อเลนส์ตาส่วนที่เหลือออก หลังจากนั้นจึงค่อยนำเลนส์ตาเทียมใส่เข้าไป ซึ่งวิธีนี้จะใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นค่อนข้างนานเนื่องจากมีแผลกว้าง

  1. การผ่าตัดด้วยการสลายต้อกระจก

การผ่าตัดรักษาต้อกระจกด้วยวิธีนี้นั้นจะเป็นการใช้เครื่องมือเพื่อเข้าไปสลายต้อที่เลนส์ตาด้วยคลื่นเสียงอัลตราซาวด์ ซึ่งวิธีนี้จะใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากมีแผลที่เล็กเพียง 3 มิลลิเมตร

นอกจากนี้เลนส์ตาเทียมที่มีการใส่เข้าไปแทนยังเป็นเลนส์แบบพับ ซึ่งสามารถเลือกค่าสายตาและระยะเลนส์ให้เหมาะสมตามความต้องการได้ เพียงแต่ว่าการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะสามารถรักษาได้แค่ต้อกระจกในระยะแรก ๆ ที่ต้อไม่สุกมากเกินไปเท่านั้น


การผ่าตัดต้อกระจกอันตรายไหม มีความเสี่ยงรึเปล่า

หลายคนอาจเป็นกังวลว่าการผ่าตัดต้อกระจกมีความอันตรายมากน้อยแค่ไหน ต้องบอกว่าการผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบันถือว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เนื่องด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้การผ่าตัดต้อกระจกในยุคปัจจุบันมีความเสี่ยงน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก แพทย์สามารถผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว และไม่ทำให้คนไข้เจ็บปวด ส่วนคนไข้ก็ใช้เวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดไม่นาน

แต่อย่างไรก็ตามโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดก็มีได้เหมือนกัน โดยอาการข้างเคียงเหล่านี้ก็ได้แก่ อาการอักเสบ ติดเชื้อ จอประสาทตาลอก ตาแห้ง วุ้นตาเสื่อม หรือเลนส์ตาเทียมไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เป็นต้น ดังนั้นถ้าหากคุณจำเป็นต้องผ่าตัดต้อกระจก คุณควรเลือกผ่าตัดกับสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานมีเครื่องมือ รวมถึงอุปกรณ์การผ่าตัดที่ทันสมัย และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างแพทย์จักษุ เป็นต้น  


การผ่าตัดต้อกระจกรักษาค่าสายตาได้ไหม

ถ้าหากต้องการที่จะผ่าตัดรักษาต้อกระจกและรักษาสายตาไปพร้อม ๆ กันในการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว คุณก็สามารถทำได้ เพียงแต่ว่าต้องใช้วิธีผ่าตัดด้วยการสลายต้อกระจกเท่านั้น เนื่องจากว่าตัวเลนส์ที่ใช้ในการผ่าตัดวิธีนี้เป็นเลนส์ตาเทียมแบบพับ ซึ่งสามารถเลือกได้ทั้งค่าสายตา สายตาเอียง หรือแม้แต่ระยะของเลนส์ 


วิธีป้องกันโรคต้อกระจก

วิธีป้องกันโรคต้อกระจก มีดังนี้

  • เมื่ออยู่ในบริเวณที่มีแสงจ้าหรือจำเป็นต้องทำงานจ้องแสง ควรที่จะใส่แว่นกันแดดหรืออุปกรณ์ที่จะช่วยป้องกันดวงตาจากแสงแดด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีสารอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา เช่น วิตามิน A วิตามิน C และวิตามิน E
  • หมั่นพักสายตาเมื่อมีการใช้งานเป็นระยะเวลานาน ๆ ติดต่อกัน
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดการกระทบกระเทือนกับดวงตา
  • หากตามีปัญหาไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์เป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น
  • หมั่นตรวจสายตาเป็นประจำทุกปี เพราะจะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีเมื่อตรวจพบต้อกระจก

รักษาโรคต้อกระจกที่ไหนดี

ดวงตานับเป็นจุดที่เปราะบางมากที่สุด จึงควรที่จะใส่ใจและเลือกสถานพยาบาลที่จะเข้ารับการรักษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบมากที่สุด 

โดยการเลือกสถานพยาบาลในการรักษาโรคต้อกระจกนั้นควรเลือกเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาจากสถานพยาบาลที่มีความน่าเชื่อถือ มีอุปกรณ์ในการรักษาที่ครบครัน รวมไปถึงมีแพทย์เฉพาะทางที่มากประสบการณ์หรือมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับต้อกระจก

ในหัวข้อนี้เราจะมาไขข้อสงสัยจากคำถามเกี่ยวกับต้อกระจกที่หลาย ๆ คนค่อนข้างให้ความสนใจกัน 

ต้อกระจกอันตรายไหม

โรคต้อกระจกนั้นจะเป็นอันตรายก็ต่อเมื่อโรคถูกปล่อยทิ้งไว้นานจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้เกิดต้อหิน การติดเชื้อ หรืออาจทำให้ตาบอดได้

ต้อกระจกรักษาด้วยยาหยอดตาได้ไหม

ยาหยอดตาที่สามารถรักษาต้อกระจกได้นั้นยังไม่มีในปัจจุบัน วิธีในการรักษาต้อกระจกโดยไม่ต้องผ่าตัดจะมีเพียงแค่การใช้แว่นเพื่อปรับค่าสายตาหรือตัดแสงสะท้อนและรักษาตามอาการเท่านั้น

ต้อกระจกรักษาหายไหม

ในกรณีที่เป็นต้อกระจกในระยะเริ่มแรกนั้นจะเป็นเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น โดยโรคต้อกระจกสามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีหรือไม่ เพราะถ้าหากเราทิ้งไว้นานจะต้อกระจกอยู่ในระยะสุกเกินก็จะทำการรักษาได้ยากยิ่งขึ้น

หลังผ่าตัดต้อกระจก ใช้เวลาพักฟื้นกี่วัน

การผ่าตัดต้อกระจกนั้นเป็นการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลแต่อย่างใด เมื่อผ่าตัดเสร็จคนไข้สามารถกลับบ้านได้เลย ส่วนในเรื่องของการพักฟื้นหลังผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับวิธีผ่าตัดที่แพทย์ผ่าตัดให้คนไข้ ซึ่งถ้าหากคนไข้เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่จะต้องใช้เวลาพักฟื้นอย่างน้อย 4 – 6 สัปดาห์ก่อนที่จะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน

แต่ถ้าหากคนไข้เข้ารับการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยวิธีแบบใหม่ที่ใช้เสียงความถี่สูงในการผ่าตัดก็จะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2-3 วันถึงจะสามารถกลับมาใช้สายตาได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตามไม่ว่าคนไข้จะผ่าตัดต้อกระจกด้วยวิธีแบบใด คนไข้ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ดวงตาโดนน้ำอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และหลังจากผ่าตัดวันแรกคนไข้ไม่ควรขับรถ อาจจะรอให้ตากลับมามองเห็นชัดเจน หรือพักฟื้นไปแล้วสักวันสองวันถึงจะสามารถกลับมาขับรถได้อีกครั้ง

หลังจากผ่าตัดแพทย์จะนัดเพื่อตรวจสอบอาการของคนไข้หลังผ่าตัดว่ามีอาการแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงหลังผ่าตัดหรือไม่ ดังนั้นในช่วงพักฟื้นคนไข้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 

ผ่าตัดต้อกระจกแล้วจะกลับมาเป็นอีกไหม

สำหรับคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกแล้วจะหายขาดจากอาการต้อกระจกทันที และจะไม่กลับมาเป็นอีก เพราะหลังจากที่แพทย์นำเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออกแล้ว แพทย์จะใส่เลนส์แก้วตาเทียมให้ จึงทำให้คนไข้ไม่สามารถกลับมาเป็นต้อกระจกได้อีก ซึ่งคนไข้จะสามารถใช้ดวงตา และสายตาได้ปกติเหมือนคนทั่วไป เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้อาการตาเป็นต้อกระจกของคุณหนักขึ้น เพียงเข้ารับการรักษา และผ่าตัดก็จะหายจากอาการตาเป็นต้อกระจกได้อย่างถาวร


ข้อสรุป

ดวงตาที่เราใช้งานมันอยู่ทุกวันนั้นควรหมั่นสังเกตอาการและดูแลให้ดี ไม่เช่นนั้นก็อาจเกิดโรคต้อกระจกได้ ถึงแม้ว่าต้อกระจกจะมีวิธีในการรักษาที่สามารถหายขาดได้ แต่ในระหว่างที่เป็นก็คงสร้างความรำคาญหรือความลำบากให้แก่เราไม่น้อยเลยทีเดียว