ปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต ทางเลือกของคนที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน

ปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ประสบปัญหาสภาพการเงินไม่คล่องตัวด้วยภาระหนี้บัตรเครดิตที่ต้องผ่อนจ่ายต่อเดือน ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทำให้เรามีรายได้ที่น้อยลง เราขอแนะนำการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะช่วยให้คุณสามารถชำระหนี้ได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ผิดนัดชำระ และไม่เสียประวัติเครดิต โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตที่หลาย ๆ คนกำลังประสบปัญหาอยู่


ปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต

การปรับโครงสร้างหนี้ คือ การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อให้เรายังสามารถชำระหนี้ได้ต่อไป โดยที่ไม่ผิดนัดการชำระ เป็นการพักชำระหนี้ด้วยการขอขยายเวลา หรือเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย เปลี่ยนประเภทหนี้ การรีไฟแนนซ์ เป็นต้น

ซึ่งการขอปรับโครงสร้างหนี้สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ การแปลงหนี้ใหม่โดยที่หนี้เดิมจะถูกระงับ ซึ่งจะมีสัญญาตามหนี้ใหม่ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับหนี้ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนประเภทหนี้ และการชำระหนี้เดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงการชำระหนี้ หรือปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย

โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต เพราะหลายคนมองว่า หนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ดังนั้น จึงเลือกที่จะไม่จ่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถาบันการเงินสามารถฟ้องยึดบ้าน หรือยึดทรัพย์สินอื่น ๆ รวมถึงการทำให้เราเสียประวัติเครดิต ไม่สามารถทำธุรกรรมกู้สินเชื่อได้เลยทีเดียว

ดังนั้น หากเราประเมินสถานการณ์ทางการเงินแล้ว พบว่า รายได้ลดลงหรือขาดรายได้ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามนัด ก็ควรเริ่มพิจารณาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต เพราะการผิดนัดชำระหนี้อาจทำให้เราถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระและมีประวัติค้างจ่ายในข้อมูลเครดิตบูโร แต่ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างหนี้แต่ละวิธีมีผลแตกต่างกันต่อประวัติในเครดิตบูโร จึงควรสอบถามสถาบันการเงินในประเด็นนี้ ด้วยก่อนตัดสินใจ


การปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตสำคัญอย่างไร

การปรับโครงสร้างหนี้

ตามความหมายของปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต คือ การเปลี่ยนเงื่อนไขในการชำระหนี้บัตรเครดิต เพื่อให้เราสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา ด้วยการประเมินสถานการณ์ทางการเงินของตนเองว่าเข้าข่ายในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตหรือไม่ ดังต่อไปนี้

  • มีรายได้ที่ลดลง หรือขาดรายได้ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้เท่าเดิม
  • ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ในการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน
  • ต้องการเงินก้อนสำหรับสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
  • ต้องการกู้สินเชื่ออื่น ๆ เพิ่มเติม จึงต้องมีการเปลี่ยนเงื่อนไขในการชำระหนี้เดิม

และเมื่อเรามีเสร็จเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการขอขยายเวลาในการชำระหนี้ การพักหนี้ 2 เดือน การเปลี่ยนประเภทหนี้ หรือการขอรีไฟแนนซ์ ก็ล้วนแต่เป็นผลดีต่อตัวเราทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น…

  • เป็นการป้องกันไม่ให้หนี้ของเรากลายเป็นหนี้เสีย ที่จะทำให้เราเสียประวัติทางการเงิน รวมถึงเครดิตในการกู้ยืม
  • เป็นการประเมินสถานการณ์ทางการเงินของตนเอง ว่า  ในปัจจุบันมีสภาพคล่องมากน้อยเพียงใด เพื่อให้เราสามารถวางแผนการบริหารเงินได้ดีขึ้นและคล่องตัวมากขึ้น
  • เราสามารถเลือกชำระหนี้ได้ตามสภาพคล่องทางการเงินของเรา มีความยืดหยุ่นในการชำระหนี้บัตรเครดิตมากยิ่งขึ้น
  • ทำให้เราไม่ผิดนัดชำระหนี้ และสามารถรักษาทรัพย์สินที่อาจจะต้องสูญเสีย หากถูกสถาบันการเงินฟ้องร้อง เมื่อเราไม่สามารถชำระหนี้ได้

แนะนำ 8 วิธีปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต  

ปรับปรุงโครงสร้างหนี้

แล้วการปรับโครงสร้างหนี้มีวิธีการอย่างไรบ้าง วิธีใดจึงจะเหมาะสมกับตัวเรา โดยบทความนี้ ได้เตรียม 8 วิธีปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตมาเพื่อให้เราได้ศึกษาและเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด ดังนี้

1. ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการขยายเวลา

วิธีแรกของการปรับโครงสร้างหนี้ คือ การขอขยายเวลาชำระหนี้ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยวิธีนี้ คือ การขอเพิ่มระยะเวลาในการชำระหนี้ และลดจำนวนการผ่อนต่อเดือนลง กล่าวคือ ขอเพิ่มระยะเวลาในการชำระหนี้นานขึ้น เพื่อให้จำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่อเดือนลดลง เพื่อปรับภาระหนี้ต่อเดือนให้สอดคล้องกับรายรับที่ได้น้อยลง

การปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตด้วยวิธีนี้ เหมาะสมสำหรับบุคคลที่รายได้ลดลงในระยะยาว เช่น การเปลี่ยนงานใหม่ที่ได้รายได้น้อยลง สภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ได้รายได้น้อยลง เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถชำระหนี้ในปริมาณเท่าเดิมได้ ซึ่งเราสามารถขอขยายเวลาชำระหนี้ได้เป็นปี เช่น บางรายขอเพิ่มได้ 5 ปี (ขึ้นอยู่กับยอดหนี้ ประเภทหนี้ รวมถึงฐานะการเงินของลูกหนี้) 

แต่สิ่งที่สำคัญที่เราจะต้องเข้าใจและระวังไว้ก็คือ การปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตด้วยการขอขยายเวลานี้ ทำให้เราสามารถผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนได้น้อยลงก็จริง แต่ระยะเวลาในการชำระกลับมากขึ้น นั่นหมายถึงว่า เราจะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น ดังนั้น เราจึงควรขอขยายเวลาในการชำระหนี้ให้น้อยที่สุด เท่าที่เราจะสามารถชำระหนี้ต่อเดือนไหว

2. การพักชำระเงินต้น

การพักชำระเงินต้นในการปรับโครงสร้างหนี้เป็นการขอชำระเพียงดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาหนึ่งเป็นการชั่วคราว เพราะโดยปกติทุกเดือน เราจะต้องชำระหนี้ที่ประกอบด้วยเงิน 2 ส่วน คือ เงินต้นและดอกเบี้ย ด้วยวิธีนี้ จึงเป็นการเจรจาในการขอหยุดชำระเงินต้น โดยสถาบันการเงินอาจจะพิจารณาให้พักชำระเป็นเวลา 3 – 6 เดือน

แต่ทั้งนี้ ในการปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตด้วยการพักชำระเงินต้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า เรายังคงต้องชำระดอกเบี้ยเหมือนเดิมทุกเดือน โดยที่เงินต้นยังคงเท่าเดิม ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลา เราก็ต้องกลับมาชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเท่าเดิม โดยที่ในระหว่างก่อนครบสัญญา เราจะต้องนำเงินก้อนมาปิดเงินต้นในช่วงที่เราขอพักชำระเงินต้นด้วยเช่นกัน

ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตวิธีนี้ เหมาะสำหรับบุคคลที่มีรายได้ลดลงอย่างกะทันหัน หรือลดลงมากแค่ในระยะเวลาสั้น ๆ จนไม่สามารถทำให้ชำระหนี้ได้ตามปกติ และไม่นานก็จะกลับมามีรายได้เท่าเดิม แต่ก็ควรระวังว่า ดอกเบี้ยอาจจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังได้ เนื่องจากจำนวนเงินต้นที่ไม่ได้ลดลงในช่วงพักชำระ และอาจต้องขยายเวลาชำระหนี้ต่อไป 

3. ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย

การขอปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ยอดชำระในแต่ละเดือนในส่วนของดอกเบี้ยลดลงในระยะเวลาหนึ่งที่ได้ตกลงกับสถาบันการเงินได้ เมื่อครบกำหนดเวลา เช่น 3 เดือน 6 เดือน ก็กลับมาชำระที่อัตราดอกเบี้ยเดิม ข้อดีคือ เมื่อดอกเบี้ยลดลง ก็จะทำให้เราสามารถชำระในส่วนของเงินต้นได้มากขึ้น เมื่อเงินต้นลดลง ดอกเบี้ยก็จะลดลงตามไปด้วย

ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้วิธีนี้ จะเหมาะสำหรับบุคคลที่รายได้ลดลงไม่มากนัก และลดลงในระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนจะกลับมามีรายได้เท่าเดิม แต่ถ้าหากรายได้ของเราลดลงเป็นระยะเวลานาน ก็ควรจะเลือกวิธีการอื่น

4. ยกหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

เมื่อช่วงต้นปี 2563 ทางแบงก์ชาติได้มีการประกาศให้สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยปรับบนฐานของงวดที่ผิดนัดชำระจริงเท่านั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย 

โดยสถาบันการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยปรับได้ แต่ต้องไม่เป็นภาระแก่ลูกหนี้จนเกินสมควร หรือเป็นเหตุที่ทำให้ภาระหนี้สูงขึ้นมากจนชำระไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสียในเวลาต่อมา ซึ่งถือว่าเป็นการปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตที่เป็นธรรมแก่ลูกหนี้

5. เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน

การปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการขอเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน (working capital: WC) โดยเฉพาะบุคคลที่ประกอบธุรกิจในสถานการณ์ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน เพื่อให้มีโอกาสฟื้นตัวได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

หากเราตัดสินใจที่จะปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตด้วยวิธีนี้ เราจะต้องเตรียมเหตุผลและประมาณการรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในระยะ 6 – 12 เดือนข้างหน้า เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าวัตถุดิบ ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเช่าสำนักงาน เป็นต้น เพื่อให้สถาบันการเงินใช้ประกอบการพิจารณาวงเงิน

โดยสถาบันการเงินจะพิจารณาจากประวัติการผ่อนชำระ เช่น 1 ปีที่ผ่านมาลูกหนี้ชำระหนี้ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นจำนวนเท่าใด วงเงิน WC ที่ขอเพิ่มเติมคิดเป็นสัดส่วนเท่าใดของภาระหนี้รวม เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบสำหรับการเพิ่มวงเงินให้นั่นเอง

6. ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการเปลี่ยนประเภทหนี้

การปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตด้วยการเปลี่ยนประเภทหนี้ จากหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเปลี่ยนเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง เช่น หนี้บัตรเครดิตที่ชำระไม่เต็มจำนวนและตรงเวลาจะถูกคิดดอกเบี้ย 18% หรือ 28% ต่อปี ก็เปลี่ยนเป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดระยะเวลาชำระ (term loan) ที่มีกำหนดเวลาจ่ายคืนที่ชัดเจนขึ้น เช่น 12 เดือน เป็นต้น โดยมีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ 12%

โดยการปรับโครงสร้างหนี้แบบนี้ จะส่งผลให้เราต้องผ่อนชำระต่อเดือนสูงขึ้น โดยเราจะต้องประเมินความสามารถในการผ่อนชำระเอง แต่ก็มีข้อดี คือ จะทำให้เรามีวินัยในการชำระหนี้ ดอกเบี้ยไม่พอกพูน และสามารถปลดหนี้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

7. ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยเงินก้อน

อีกหนึ่งวิธีสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ที่หลายคนอาจเรียกว่า แฮร์คัต (hair cut) เป็นการขอส่วนลดจากเจ้าหนี้แล้วจ่ายทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีทันที ภายในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 6 เดือน หรือเพียง 1–2 งวด เป็นต้น

แต่ถ้าหากเรามีเงินก้อน แต่ไม่เพียงพอสำหรับปิดหนี้ทั้งหมด ก็อาจจะขอปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการขอปิดจบด้วยเงินก้อนที่น้อยกว่าหนี้ทั้งก้อนได้ แต่การปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตวิธีนี้ เหมาะสำหรับบุคคลที่มีความมั่นใจว่า สามารถหาเงินก้อน เพื่อมาปิดบัญชีได้อย่างแน่นอน เพราะถ้าหากทำไม่ได้ ทางสถาบันการเงินอาจจะต้องพิจารณาทางเลือกอื่นในการช่วยเหลือแทน

8. การรีไฟแนนซ์ (Refinance)

วิธีสุดท้ายของการปรับโครงสร้างหนี้ คือ การรีไฟแนนซ์ เป็นการปิดสินเชื่อจากเจ้าหนี้เดิมและย้ายไปใช้สินเชื่อของเจ้าหนี้ใหม่ที่ให้เงื่อนไขดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่น้อยกว่า การผ่อนชำระต่อเดือนที่น้อยลง เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ ในการปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตด้วยวิธีนี้ จะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างดำเนินการด้วย เช่น ค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าใช้จ่ายในการประเมินมูลค่าหลักประกัน ค่าทำประกันใหม่ ค่าปรับให้แก่เจ้าหนี้รายเดิมที่เราจ่ายคืนหนี้ทั้งจำนวนก่อนครบกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา โดยต้องพิจารณาว่า เมื่อเราเสียค่าใช้จ่ายเหล่านี้เพิ่มแล้ว ยังคงคุ้มค่า และต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิมที่เราจ่ายอยู่ในตอนนี้หรือไม่


ตัวอย่างการปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต 

เราขอยกตัวอย่างการปรับโครงสร้างหนี้ให้เห็นภาพ 2 วิธี คือ

  • ปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตด้วยวิธีการพักชำระเงินต้น โดยเราจะต้องชำระหนี้เดือนละ 20,000 บาท ประกอบด้วยเงินต้น 9,000 บาท และดอกเบี้ย 11,000 บาท เมื่อเราขอพักชำระเงินต้น เราก็จะชำระเพียงดอกเบี้ยต่อเดือนที่ 11,000 บาท แต่ก็จะยังคงยอดเงินต้นตลอดช่วงเวลาที่ขอพักชำระ
  • การปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตด้วยการปิดด้วยเงินก้อน เช่น เรามีหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด 150,000 บาท  ละเมื่อตกลงที่จะชำระด้วยเงินก้อน เพื่อปิดบัญชีกับทางสถาบันการเงิน อาจจะขอส่วนลดอยู่ที่ 135,000 บาท หากตกลงได้ ก็จะสามารถปิดหนี้ได้ทันที

คำถามที่พบบ่อย 

ขอปรับโครงสร้างหนี้

ในการปรับโครงสร้างหนี้ หลายคนก็อาจจะมีคำถามที่สงสัย ว่า เราควรจะปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตดีหรือไม่ หากปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว จะส่งผลอย่างไรหรือไม่

ปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตแล้วผิดนัด ทำอย่างไรดี 

หากเราขอปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตแล้วผิดนัดชำระ อันดับแรก คือ เราต้องรีบติดต่อสถาบันการเงิน เพื่อชี้แจงและตกลงเงื่อนไขใหม่ เพื่อรักษาประวัติและไม่ให้เราต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มเติม

ปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต ทำให้เสียประวัติไหม 

สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต เราจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

  1. หากเราขอปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะมีการผิดนัดชำระ ก็จะไม่เป็นการเสียประวัติแต่อย่างใด
  2. หากขอปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตหลังจากที่มีการผิดนัดชำระ ก็จะเสียประวัติอย่างแน่นอน ส่งผลให้การทำธุรกรรมหรือขอสินเชื่อต่าง ๆ ไม่ได้รับการอนุมัติ

ข้อสรุป 

การปรับโครงสร้างหนี้เป็นทางเลือกหนึ่งของบุคคลที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่น้อยลง หรือต้องการเงินหมุนเวียน หรือเงินสำหรับสำรองยามฉุกเฉิน โดยเราสามารถเลือกวิธีปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต เช่น การขอขยายเวลาชำระ การพักชำระเงินต้น การปิดด้วยเงินก้อน การรีไฟแนนซ์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับประวัติการชำระหนี้ ยอดหนี้ และเงื่อนไขของสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน