ผมร่วงหนักมาก เกิดจากอะไร แล้วเราควรจะรักษาผมร่วงยังไงดี!?
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สังเกตเห็นว่า ปริมาณผมที่ร่วงในแต่ละวันเยอะกว่าผิดปกติ จนเกิดความวิตกกังวลว่า ทำไมผมร่วงหนักมาก โดยบทความนี้ จะพาคุณไปทราบสาเหตุผมร่วง ว่า เกิดจากอะไร แล้วเราจะมีวิธีอะไรบ้างในการแก้ปัญหาและรักษาผมร่วงด้วยตัวเองอย่างง่าย ๆ ในเบื้องต้นก่อน
ผมร่วงเป็นเพราะอะไร
ผมร่วง (Hair Loss) คือ การสูญเสียเส้นผมบนศีรษะหรือกับทุกส่วนในร่างกาย ซึ่งถ้าหากสังเกตเห็นผมร่วงเป็นจำนวนมากผิดปกติ ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป โดยสาเหตุผมร่วงอาจจะเป็นไปได้ ดังนี้
1. กรรมพันธุ์โดยกำเนิด
สาเหตุหลักของอาการผมร่วง ก็คือ กรรมพันธุ์ โดยพบจากคนที่มีพันธุกรรมผมบาง ศีรษะล้านในครอบครัว ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดภาวะผมบางได้ ด้วยมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อ แอนโดรเจน เนื่องจากฮอร์โมนนี้ จะเป็นตัวกําหนดวงจรและควบคุมการเติบโตของเส้นผม ซึ่งพบในเพศชายมากถึง 95%
2. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
อีกหนึ่งสาเหตุผมร่วง ก็คือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้น เพราะความเครียด หรือมลภาวะต่าง ๆ ที่เราต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน ก็ล้วนแต่ส่งผลกับฮอร์โมนทั้งสิ้น ได้แก่ ฮอร์โมนไดไฮโดรเทสทอสเตอโรน ต่อมไทรอยด์ อินซูลิน และเอสโตรเจน
3. โรคประจำตัว
โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น รวมถึงโรคประจำตัวที่เราเป็นอยู่ก็ส่งผลให้เกิดอาการผมร่วงได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคต่อมไทรอยด์ การติดเชื้อที่หนังศีรษะ และโรคที่ทำให้เกิดแผลเป็น เช่น ไลเคนพลานัส และโรคลูปัสบางชนิด ก็อาจจะทำให้ผมร่วงถาวรได้ เนื่องจากแผลเป็น หรือมีไข้สูง
4. ผมร่วงหลังคลอด
บางครั้ง การเกิดอาการผมร่วงก็อาจจะเป็นเพราะภาวะหลังคลอดบุตรของเพศหญิง เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงกว่าเดิม จึงส่งผลให้ผมไม่กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม และทำให้ผมร่วงได้
5. ยาบางชนิด
และสาเหตุผมร่วงกรณีสุดท้าย ก็คือ การใช้ยาบางชนิดก็อาจจะทำให้ผมร่วงได้ ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากตัวยาที่ใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ ภาวะซึมเศร้า ยาลดไขมันในเส้นเลือด ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น หรือแม้แต่ยาที่ใช้ในบางกรณีอย่างยาคุมกำเนิด ยาฆ่าเชื้อ และยารักษาสิว ก็อาจจะส่งผลได้ด้วยเช่นกัน
วงจรชีวิตของเส้นผมแต่ละช่วง
แต่ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ในแต่ละวัน ผมของเราจะร่วงเป็นปกติตามรอบวงจรชีวิตของเส้นผมอยู่แล้ว ประมาณ 50 – 100 เส้นต่อวัน ดังนั้น หากเส้นผมของเราร่วงมากกว่านี้ ก็จำเป็นจะต้องไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาทันที
โดยคนเราจะมีผมบนศีรษะ ประมาณ 100,000 – 120,000 เส้น ซึ่งสร้างมาจากเซลล์รากผมที่อยู่ลึกประมาณ 1 – 2 มิลลิเมตร ใต้หนังศีรษะจะมีเซลล์ที่ผลิตแกนผมเปลือกนอกของผม และเส้นผมมีวงจรชีวิตแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
- ระยะการเจริญเติบโต (Anagen Phase)
เป็นระยะที่เส้นผมงอกขึ้นมาใหม่ มีระยะเวลายาวนานประมาณ 3 – 7 ปี (ในวัยเด็ก) แต่เมื่ออายุมากขึ้น ระยะเวลาเจริญเติบโตจะสั้นลง โดยในระยะนี้เส้นผมจะงอกเร็วประมาณ 1 cm หรือ ครึ่งนิ้ว (90% ของเส้นผมจะอยู่ในระยะเจริญเติบโต 10% ในระยะพักตัว)
ซึ่งระยะนี้ จะเป็นตัวกระตุ้นต่อมการเจริญเติบโตที่รากผม เพื่อจะได้สร้างเซลล์เส้นผมขึ้น และงอกยาวออกมาเป็นเส้นผม และถือว่า เป็นระยะเดียวที่สามารถใช้ทรีทเม้นท์ดูแลเส้นผมได้อย่างเห็นผล
- ระยะหยุดการเจริญเติบโต (Catagen Phase)
เป็นระยะสิ้นสุดการเจริญเติบโตและเส้นผมจะเข้าสู่ระยะพักตัว ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ โดยในระยะนี้ เส้นผมจะแยกตัวจากหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยง ค่อย ๆ ขาดสารอาหาร และเตรียมพร้อมที่จะร่วง (10% ของเส้นผมอยู่ในระยะพัก)
โดยรากผมจะเริ่มมีขนาดที่เล็กลงเรื่อย ๆ และผมก็ขึ้นช้าลง เนื่องจากต่อมรากผมหยุดการแบ่งเซลล์ และรากผมนี้ จะเลื่อนตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ระยะสุดท้าย
- ระยะเส้นผมพักตัว (Telogen Phase)
เป็นระยะที่ต่อมรากผมจะเลื่อนตัวขึ้นไปอีก ระยะนี้ จะใช้เวลาประมาณ 2 – 4 เดือน จะมีเส้นผมที่งอกขึ้นใหม่ดันให้ผมเก่าหลุดร่วงออกไป (10-15% ของเส้นผมระยะหยุดการเจริญเติบโต) เมื่อระยะนี้ สิ้นสุดลง เส้นผมจะเข้าสู่ระยะเจริญเติบโตอีกครั้งและเริ่มต้นวงจรใหม่
แต่สำหรับคนที่ผมร่วงเยอะ หรือผมร่วงหนักมาก อาจจะเป็นเพราะมีอะไรบางอย่างมาขัดขวางการเจริญของผมใหม่ หรือเร่งให้ผมอยู่ในระยะพักเร็วขึ้น หรือชะลอระยะการเจริญเติบโตให้สั้นกว่าปกติ จึงทำให้เส้นผมร่วงเร็วและงอกขึ้นมาใหม่ไม่ทัน ส่งผลทำให้ผมดูบางและล้านในที่สุด
แก้ผมร่วงอย่างไรให้ผมหนาขึ้น
อย่างที่เราทราบกันไปแล้วว่า ผมร่วงเกิดจากอะไร ทีนี้ เราลองมาดูวิธีแก้ปัญหาผมร่วงกันบ้าง ซึ่งเราเตรียมมาให้ 3 วิธี ซึ่งเป็นวิธีรักษาอย่างง่าย ๆ ที่เราสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อรักษาผมร่วงโดยเบื้องต้น คือ
1. รับประทานอาหารบำรุงผม
วิธีรักษาผมร่วงวิธีแรก คือ การบำรุงจากภายในร่างกายของเราด้วยการเลือกรับประทานแต่อาหารที่ดี เพื่อบำรุงเส้นผม โดยสรุปข้อมูลมาดังนี้
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก และโอเมก้า 3 ซึ่งพบได้ในปลาแซลมอน อะโวคาโด กล้วยหอม ผักใบเขียว และธัญพืชต่าง ๆ รวมถึงโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน โดยเฉพาะโปรตีนจากถั่วเหลือง
- ทานอาหารรสชาติอ่อน จะช่วยให้ลดความดันโลหิตสูง ทำให้เลือดสามารถไปเลี้ยงเส้นผมได้อย่างสะดวก
- ดื่มน้ำให้เพียงพอหรือดื่มไม่น้อยกว่าวันละ 2 ลิตร
- ลดอาหารที่มีผงชูรส ของทอด และของมัน อาหารรสจัด
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
2. สระผมด้วยวิธีที่ถูกต้อง
การทำความสะอาดเส้นผมที่ถูกวิธีก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาผมร่วง ดังนี้
- ไม่ควรสระเกินวันละ 1 ครั้ง
- ก่อนสระผมด้วยแชมพู ควรล้างผมด้วยน้ำเปล่าก่อน ประมาณ 15 วินาที แล้วจึงใช้แชมพูสระผมทุกครั้ง เพื่อช่วยชะล้างสิ่งสกปรกที่ติดอยู่บนเรือนผมออกไปก่อน
- ในขณะที่สระผมก็ไม่ควรขยี้ผมหรือเกาหนังศีรษะแรง ๆ เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อของหนังศีรษะ แต่ให้เปลี่ยนมาสระผมโดยใช้วิธีนวดหนังศีรษะแทน โดยใช้ปลายนิ้วนวดเป็นวงกลมเบา ๆ หรือใช้แปรงนวดศีรษะในขณะสระผม ซึ่งนอกจากจะช่วยถนอมเส้นผมและหนังศีรษะแล้ว ยังช่วยทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้นอีกด้วย
- ควรสระผมด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ เพราะการใช้น้ำอุ่นจะทำให้ผมแห้งแตกปลาย หนังศีรษะแห้ง เส้นผมมีสภาพอ่อนแอ และร่วงไปในที่สุด
- ไม่ควรหวีผมในขณะที่ผมกำลังเปียก เพราะเส้นผมที่เปียกชื้นจะบอบบางกว่าปกติหลายเท่า การหวีผม หรือใช้ผ้าขนหนูเช็ดผมแรง ๆ หรือการผูกผมในขณะที่ผมยังเปียกอยู่ จะทำให้สารเคลือบผมและโปรตีนในเส้นผมถูกทำลายไปได้
- เลือกใช้แชมพูที่เหมาะกับสภาพหนังศีรษะ โดยแชมพูที่ใช้นั้น ต้องไม่ก่อให้เกิดการแพ้ การคัน รังแค หรือผื่นบนหนังศีรษะ
3. เลี่ยงการใช้ความร้อน
ด้วยชีวิตในแต่ละวัน คนเรามักจะตกแต่งทรงผมด้วยความร้อน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไดร์เป่าผมหรือที่หนีบผม ก็ล้วนแต่ทำลายเคลือบผมและโปรตีนที่หล่อเลี้ยงเส้นผม ส่งผลให้ผมแห้งเสีย แตกปลาย เปราะบาง หนังศีรษะแห้ง คัน ขาดความชุ่มชื้น และผมร่วงจากศีรษะได้อย่างง่ายดาย
ดังนั้น เวลาที่ใช้ไดร์เป่าผม จึงไม่ควรจ่อที่หนังศีรษะ โดยให้ห่างจากเส้นผมประมาณ 1 ฟุต และไม่ใช้นานจนเกินไป หรืออาจจะเปลี่ยนมาใช้พัดลมในการเป่าผมแทน หรือเลือกปรับโหมดไดร์เป่าผมให้เป็นแบบลมเย็นธรรมดา หรือเคลือบเส้นผมด้วยเซรั่มป้องกันความร้อนก่อนการจัดแต่งทรงผม
สรุป
ผมร่วงเป็นปัญหาหนักใจของใครหลาย ๆ คน เพราะด้วยความกังวลว่าสาเหตุผมร่วงเกิดจากอะไร ไม่ว่าจะเป็นเพราะกรรมพันธุ์ ฮอร์โมนในร่างกาย หรือโรคประจำตัว ก็ล้วนแต่ทำให้เจ้าตัวเสียความมั่นใจได้ ดังนั้น เมื่อสังเกตเห็นอาการดังกล่าว ก็ควรจะรีบดูแลตัวเอง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน โดยรับประทานอาหารบำรุงเส้นผม สระผมอย่างถูกต้อง และเลี่ยงการใช้ความร้อน เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยรักษาอาการผมร่วงโดยเบื้องต้นได้แล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก