นอนไม่หลับ นอนหลับยาก สาเหตุพร้อมแนวทางการรักษาอาการ

นอนไม่หลับ

สิ่งสำคัญของมนุษย์ที่ทำงานมาทั้งวันคือการได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่ในบางคนมักพบเจอกับปัญหานอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ทำให้การพักผ่อนนั้นไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคนอาจเสี่ยงต่อการเกิด โรคนอนไม่หลับ ดังนั้นเราจะไปดูกันว่าสาเหตุของปัญหานอนไม่หลับมีอะไรบ้าง ผลเสียที่จะทำให้เกิดจากอาการนอนไม่หลับ รวมไปถึงแนวทางการรักษาเพื่อให้คุณได้พักผ่อนอย่างเต็มที่



อาการนอนไม่หลับไม่ได้มีแค่ประเภทเดียว เช็กอาการนอนไม่หลับ มีอะไรบ้าง

โรคนอนไม่หลับแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ ขึ้นอยู่แต่ละบุคคล บางรายอาจเกิดปัญหานอนไม่หลับเป็นเวลายาวนานเป็นวัน สัปดาห์ หรือเป็นเดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มทำงาน โดยโรคนอนไม่หลับสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้

  • นอนไม่หลับ โดยมีอาการนอนหลับยาก (initial insomnia) ใช้เวลานานกว่าจะหลับ ซึ่งการนอนหลับยากนั้นส่วนใหญ่จะเกิดจากความวิตกกังวล
  • นอนไม่หลับ โดยมีอาการหลับแล้วตื่น (maintenance insomnia) หรือไม่สามารถหลับยาว ๆ ได้ตามที่ร่างกายต้องการ มีสะดุ้งตื่นกลางดึกอยู่บ่อย ๆ 
  • นอนไม่หลับ โดยมีอาการตื่นเร็วและหลับต่อไม่ได้ (terminal insomnia) ผู้ป่วยมีการตื่นเร็วกว่าที่ควร ซึ่งจะพบได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
  • นอนไม่หลับ โดยมีอาการหลากหลายแบบรวมกัน

สาเหตุอาการนอนไม่หลับ ที่หลายคนอาจกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่

สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลับไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นเนื่องจากมีเหตุหรือปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการนอนไม่หลับ หลับยาก ตื่นกลางดึก ตื่นเร็วกว่าที่ควร และอาการอื่นรวม ๆ กัน สำหรับวันนี้เราจะไปดูกันว่าสาเหตุเหล่านั้นที่ทำให้หลาย ๆ คนเกิดอาการนอนไม่หลับ มีอะไรบ้าง

  • อาการนอนไม่หลับมีสาเหตุส่วนใหญ่ที่มักพบมากโดยเฉพาะวัยทำงาน คือ ความเครียด ความวิตกกังวล จากงานหรือเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงความเครียดสะสมในเรื่องต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกอยู่บ่อยครั้ง
  • อาการนอนไม่หลับอาจเกิดจากการป่วย โดยผู้ป่วยที่เป็นโรค ปวดตามร่างกาย มะเร็ง ภาวะหัวใจล้มเหลว ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ วัยหมดประจำเดือน โรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม โรคหยุดหายใจขณะหลับ โรคกรดไหลย้อน โรคขาอยู่ไม่สุข โรคต่าง ๆ เหล่านี้มักทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการนอนไม่หลับ
  • อาการนอนไม่หลับอาจเกิดจากสิ่งที่คุณทานหรือดื่มเข้าไป เมื่อใกล้จะถึงเวลานอน เช่น สารคาเฟอีน นิโคตินและแอลกอฮอล์ หากทานจนติดเป็นนิสัยอาการนอนไม่หลับของคุณก็อาจจะรุนแรงมากขึ้น 
  • อาการนอนไม่หลับอาจมีสาเหตุมาจากอุปนิสัยการนอน หากคุณนอนดึกเป็นเวลาติดต่อกันนาน ๆ เมื่อถึงเวลาควรนอนจริง ๆ ถึงแม้ว่าจะอยากนอนแค่ไหนแต่คุณก็อาจจะนอนไม่หลับหรือหลับยากก็เป็นได้

ผลเสีย จากอาการนอนไม่หลับ ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง

การนอนไม่หลับหนึ่งในปัญหาที่ทำให้หลาย ๆ คนเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา ส่งผลเสียต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เพียงแต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่สามารถที่จะเกิดเป็นโรคประจำตัวได้เลย และหากคุณเกิดอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อย ๆ สิ่งที่จะส่งผลต่อมา มีดังนี้ 

  • ผลเสียที่เกิดจากอาการนอนไม่หลับ ซึมเศร้า วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย
  • เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าระหว่างวัน สมองทำงานได้ไม่ดีเท่าไหร่ 
  • มีปัญหาทางพฤติกรรม เช่น อยู่ไม่สุข (hyperactivity) หรือก้าวร้าว
  • อาการนอนไม่หลับอาจทำให้เกิด ความง่วงในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งจะเป็นผลเสียอย่างมากต่อผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่ค่อนข้างอันตราย หรือผู้ที่อยู่หน้าเครื่องจักรต่าง ๆ
  • อาการนอนไม่หลับอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม รวมไปถึงสมรรถภาพทางเพศเสื่อม

นอนไม่หลับ แบบไหนที่ควรไปพบแพทย์ 

อาการนอนไม่หลับ หรือง่วงแต่นอนไม่หลับ สามารถเกิดขึ้นในเกือบทุกคน แต่มักเกิดในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ในบางรายก็อาจเกิดในระยะยาวได้ หากคุณมีอาการนอนไม่หลับ 3 เดือนติดต่อกัน โดยในหนึ่งสัปดาห์เกิดอาการนอนไม่หลับ อย่างน้อย 3 คืน และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ ไม่ว่าจะเป็นอาการหงุดหงิดง่าย ง่วงนอนตลอดแวลา รู้สึกไม่สดชื่น หากมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ออนไลน์หรือพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาโดยด่วน


นอนไม่หลับกับวิธีการรักษา ทำอย่างไรได้บ้าง

วิธีการรักษาอาการนอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลับในบางรายที่อาจไม่รุนแรงมาก สามารถที่จะรักษาได้ด้วยตัวเอง จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ดังนี้

  • รักษาอาการนอนไม่หลับโดยการปรับเปลี่ยนการนอน จากที่นอนดึกให้นอนเร็วขึ้น ไม่เล่นโทรศัพท์ก่อนนอน หรือเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ตอนนอน สร้างบรรยากาศในห้องนอนให้น่านอนมากยิ่งขึ้น ทั้งอุณหภูมิภายในห้องนอน ความสะอาด เป็นต้น
  • ไม่รับประทานอาหารเยอะมากเกินไปก่อนเข้านอน รวมถึงหลีกเลี่ยงคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ก่อนนอน
  • นอนในท่านอนที่เหมาะสม ด้วย การนอนตะแคงงอเข่าขึ้นไปทางหน้าอกเล็กน้อย ช่วยลดแรงกดบนเนื้อเยื่อกระดูกสันหลังและช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
  • วิธีทำให้นอนหลับอีกวิธีก็คือการออกกำลังกายในระหว่างวัน  

สรุป อาการนอนไม่หลับ ปัญหาที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะวัยทำงาน

อาการนอนไม่หลับเป็นปัญหาที่หลายคนพบเจอ ในกรณีที่ยังไม่รุนแรงก็สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง สามารถที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนและการกินให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การพักผ่อนของคุณเต็มที่และพร้อมที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้