|

ยาแก้ปวดไมเกรน ลดอาการปวดหัวได้ แต่กินผิดวิธี อันตรายถึงชีวิต!

“ปวดหัวตุ้บ ๆ ข้างเดียวสงสัยจะเป็นไมเกรน ซื้อยาไมเกรนมากินเดี๋ยวก็หาย” ประโยคนี้เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนมักจะเลือกปฏิบัติตาม แต่ทราบหรือไม่ว่าการใช้ยาแก้ปวดไมเกรนสุ่มสี่สุ่มห้าอาจทำให้อาการไมเกรนไม่ดีขึ้น แถมยังเป็นอันตรายมากกว่าเดิมอีกด้วย 
 ในบทความนี้จะมาให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับอาการไมเกรนต่างจากอาการปวดหัวปกติอย่างไร ปวดหัวไมเกรนกินยาอะไรหาย ยาไมเกรนมีข้อควรระวังในการใช้อย่างไร แล้วมีวิธีแก้ปวดไมเกรนโดยไม่กินยาหรือไม่


ไมเกรนคืออะไร

ไมเกรน (Migraine) คือภาวะที่หลอดเลือดแดงภายในและภายนอกกะโหลกศีรษะเกิดการขยายตัว ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ โดยสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแดงเกิดการขยายตัวนั้นอาจเกิดจากพันธุกรรม หรืออาจมีปัจจัยอื่น ๆ มากระตุ้น 

โดยอาการไมเกรนนี้เป็นหนึ่งในโรคทางระบบประสาทที่พบได้มากถึง 20% ของประชากรทั้งหมด และในเพศหญิงจะมีโอกาสเป็นไมเกรนมากกว่าเพศชายถึง 2-3 เท่าเลยทีเดียว 

อาการไมเกรนนี้ถึงจะไม่ได้ส่งผลต่อชีวิต แต่ก็ทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตแย่ลงได้จากอาการปวดศีรษะที่รุนแรงจนในบางครั้งไม่สามารถทำอย่างอื่นได้เลย

ปัจจัยกระตุ้นไมเกรน

หากผู้ที่มีความเสี่ยงโรคไมเกรนเจอสิ่งกระตุ้นเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการไมเกรนขึ้น ได้แก่

  • สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
  • แสงแดด 
  • ความเครียด 
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ในช่วงมีประจำเดือน
  • การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด เช่น อาหารที่ประกอบด้วยสารไทรามีน เครื่องดื่มที่ประกอบด้วยคาเฟอีน แอลกอฮอล์
  • กลิ่นฉุนรุนแรง
  • เสียง

อาการไมเกรนมีอะไรบ้าง

ผู้ที่มีอาการไมเกรนจะรู้สึกปวดศีรษะรุนแรง อาจปวดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ รู้สึกปวดตุ้บ ๆ และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย


ยาแก้ปวดไมเกรน

ยาแก้ปวดไมเกรน

เพราะอาการไมเกรนเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงในสมองเกิดการขยายตัวไปกดทันเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ดังนั้นหากทำให้หลอดเลือดแดงเกิดการหดตัวไม่ไปกดทับเส้นประสาทก็จะทำให้อาการปวดศีรษะนั้นหายไปได้ ดังนั้นวิธีแก้ปวดไมเกรนที่ให้ผลเร็วที่สุดคือการใช้ยาไมเกรนนั่นเอง

ยาไมเกรนที่ช่วยให้อาการไมเกรนบรรเทาลงได้นั้นจะมีฤทธิ์การกระตุ้นตัวรับของสารสื่อประสาทซีโรโทนิน ทำให้หลอดเลือดที่ขยายตัวนั้นหดตัวลงได้ อาการปวดศีรษะจึงบรรเทาลง


ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ปวดไมเกรน

ยาไมเกรนจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ที่มีข้อควรระวังในการใช้งานค่อนข้างมาก เนื่องจากหากใช้ผิดวิธีอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้น โดยมีข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ปวดไมเกรนดังนี้

  • ยาไมเกรนที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดแดงหดตัว จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีอาการปวดไมเกรนเท่านั้น ห้ามรับประทานติดต่อกันเพื่อป้องกันอาการปวดไมเกรนเด็ดขาด
  • ยาไมเกรนที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดแดงหดตัว ห้ามรับประทานเกิน 6 เม็ดต่อวัน และห้ามรับประทานเกิน 10 เม็ดต่อสัปดาห์ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง อาการคลื่นไส้อาเจียนมากกว่าเดิม
  • กลุ่มยาไมเกรน ชนิดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ จะต้องระวังในเรื่องการใช้ยาเนื่องจากมีผลข้างเคียงที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
  • ยาแก้ปวดหัวไมเกรนควรใช้ในการดูแลของแพทย์และเภสัชเท่านั้น เนื่องจากยาไมเกรนมักมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ก่อนใช้ยาไมเกรนควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีการใช้ยาตัวอื่นอยู่ เนื่องจากยาไมเกรนไม่สามารถใช้ร่วมกับยาบางตัวได้

ยาไมเกรน มีอะไรบ้าง

ยาไมเกรน มีอะไรบ้าง

อาการไมเกรนนั้นมักจะไม่หายขาด ผู้ที่หายปวดไมเกรนแล้ว เมื่อมีปัจจัยอื่น ๆ มากระตุ้นก็จะทำให้เกิดอาการไมเกรนขึ้นมาอีกครั้งได้ จึงทำให้มียารักษาอาการปวดไมเกรนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

  1. ยารักษาอาการไมเกรนตามอาการ : ยาไมเกรนกลุ่มนี้มักเน้นลดอาการปวดหัวไมเกรนเฉียบพลัน 
  2. ยาป้องกันอาการไมเกรน : ยาป้องกันอาการไมเกรนมีจุดมุ่งเน้นสำหรับป้องกันการกำเริบอาการไมเกรน ลดความถี่การปวดไมเกรนจากสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ลงได้ 

จะเห็นได้ว่ายาแก้ปวดไมเกรนในแต่ละกลุ่มมีจุดประสงค์ในการใช้แตกต่างกัน การจะใช้งานยาไมเกรนอย่างถูกวิธี จำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้จ่ายเท่านั้น เพื่อให้การรักษาอาการไมเกรนเป็นไปอย่างราบรื่น สำหรับรายละเอียดของแต่ละกลุ่มยาไมเกรนจะขอเจาะลึกในหัวข้อถัดไป


กลุ่มยารักษาอาการปวดไมเกรนเฉียบพลัน (Abortive Drugs)

ยาไมเกรนกลุ่มนี้จะใช้ก็ต่อเมื่ออาการไมเกรนกำเริบ หรือเมื่อมีอาการปวดไมเกรนเท่านั้น ฤทธิ์ยากลุ่มนี้จะช่วยให้อาการปวดไมเกรน และผลข้างเคียงของอาการไมเกรนหายไป

กลุ่มยารักษาอาการปวด(Abortive Drugs)

1. ยาบรรเทาอาการปวดหัว

ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะที่มักจะใช้กันทั่วไปยังสามารถแบ่งออกได้อีก 3 ชนิด แต่สำหรับยาที่มักใช้กับอาการปวดไมเกรนจะมี 2 ชนิด คือ

  • พาราเซตามอล : มีฤทธิ์เปลี่ยนแปลงการรับความรู้สึกเจ็บปวดของร่างกาย ทำให้ลดอาการปวดภายในร่างกายได้
  • ยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) : ออกฤทธิ์ยับยั้งสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการปวด อักเสบ จึงทำให้ลดอาการปวดได้ มักใช้ในผู้ที่มีอาการปวดปานกลาง ไม่สามารถใช้เพียงพาราเซตามอลในการบรรเทาอาการปวดได้

โดยสรุปยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์กับระบบประสาท ทำให้ความรู้สึกปวดลดลง ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้เป็นยาลดปวดไมเกรนได้เช่นกัน 

แต่ในผู้ที่มีอาการไมเกรนเรื้อรังและไมเกรนรุนแรง การใช้ยาบรรเทาอาหารปวดหัวกลุ่มนี้อาจไม่ค่อยได้ผลนัก และหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานก็เพิ่มความเสี่ยงภาวะ Medication-overuse headache หรือการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด ส่งผลให้เมื่อใช้ยาแก้ปวดก็จะไม่ได้ผลอีก

2. ยาแก้ปวดหัวไมเกรนรุนแรง

สำหรับยาแก้ปวดไมเกรนโดยเฉพาะ เช่น ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) ยาที่มีส่วนผสมของเออโกทามีน (Ergotamine) มีกลไกการออกฤทธิ์ในการกระตุ้นตัวรับของสารสื่อประสาทซีโรโทนิน ทำให้หลอดเลือดที่ขยายตัวนั้นหดตัวลง เมื่อหลอดเลือดหดตัวลงจึงทำให้อาการปวดหัวไมเกรนนั้นหายไป 

ยาแก้ปวดไมเกรนที่มีการใช้อยู่ในประเทศไทยมีหลายยี่ห้อ เช่น ยาไมเกรน โทฟาโก้ Tofago ยา cafergot ยา avamigran ซึ่งยาเหล่านี้ประกอบไปด้วยตัวยา ergotamine tartrate ขนาด 1 มิลลิกรัม ผสมอยู่กับคาเฟอีน 100 มิลลิกรัม 

หลายคนคงเห็นว่ายาไมเกรนมียี่ห้อมากมาย แล้วยาแก้ปวดไมเกรนยี่ห้อไหนดี คำตอบก็คงจะเห็นอยู่ว่าองค์ประกอบของยาจะมีตัวยาสำคัญที่เหมือนกันคือ ergotamine และคาเฟอีน และนอกจากนี้ยาไมเกรนกลุ่มนี้ควรจะใช้โดยอยู่ในการดูแลของแพทย์ ดังนั้นการจะดูว่ายี่ห้อไหนดี แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการเลือกจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเอง

ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน

สำหรับยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนอาจไม่ได้ช่วยแก้ปวดไมเกรนโดยตรง แต่ก็สามารถช่วยลดผลกระทบจากการปวดไมเกรนได้


กลุ่มยาป้องกันโรคไมเกรน (Preventive Drugs)

กลุ่มยาป้องกันโรคไมเกรน (Preventive Drugs)

ยาป้องกันไมเกรนเป็นยาสำหรับใช้ทุกวัน เพื่อป้องกันการเกิดไมเกรน และลดความถี่ในการเกิดไมเกรนในผู้ที่เป็นโรคไมเกรนเรื้อรัง มีอาการปวดไมเกรนบ่อย ๆ 

โดยยากลุ่มนี้เดิมทีไม่ได้ใช้สำหรับรักษาและป้องกันอาการปวดไมเกรนโดยตรง เพียงแต่มีฤทธิ์ข้างเคียงที่ทำให้ลดความถี่ในการเกิดไมเกรน และลดความรุนของของอาการปวดไมเกรนลงได้

1. กลุ่มยาต้านเศร้า (Tricyclic Antidepressants)

ในยาต้านเศร้าบางชนิด เช่น amitriptyline, nortriptyline, doxepin สามารถใช้ป้องกันอาการปวดไมเกรนได้ แต่อย่างไรก็ตามยากลุ่ม Tricyclic Antidepressants มักจะมีผลข้างเคียงเช่น ง่วงซึมง่ายมาก ปากแห้ง คลื่นไส้ ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ และอื่น ๆ ดังนั้นมักจะใช้ก็ต่อเมื่อแพทย์จ่ายยาให้เท่านั้น

2. กลุ่มยากันชัก (Anticonvulsant)

ในปัจจุบันเริ่มมีการใช้ยากันชักมาใช้เป็นยาป้องกันการเกิดอาการปวดไมเกรนมากขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาการใช้ยามารองรับมากขึ้น โดยตัวยากันชักที่มักนำมาใช้ได้แก่ Valproate, Topiramate, Gabapentin เป็นต้น 

แต่อย่างไรก็ตามมักมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อย่างเช่น เวียนศีรษะ มึนงง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เป็นต้น และนอกจากนี้ยังมีข้อห้ามใช้สำหรับยา Valproate ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะตับอักเสบหรือตับอ่อนอักเสบ เกล็ดเลือดต่ำ

3. ​​กลุ่มยาลดความดัน (Beta blocker)

ยาลดความดันในกลุ่ม beta-adrenergic blockers เป็นตัวยาที่มีการนำมาใช้เป็นยาป้องกันไมเกรนมากที่สุด มีรายงานผลการศึกษาถึงยากลุ่ม beta-adrenergic blockers ว่าสามารถลดความถี่ในการเกิดอาการไมเกรนได้ถึง 50% เลยทีเดียว 

แต่อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ยังมีข้อห้ามใช้กับผู้ที่เป็นโรคหืด ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดส่วนปลาย เป็นต้น และยังมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น อ่อนเพลีย ง่วงง่าย อาการหลง เป็นต้น


หากใช้ยาไมเกรนผิดวิธีจะส่งผลเสียอย่างไร

เนื่องจากกลไกการออกฤทธิ์ของ Ergotamine หรือยาไมเกรนนี้คือการไปกระตุ้นตัวรับของสารสื่อประสาทซีโรโนนิน ไปทำให้หลอดเลือดที่ขยายตัวอยู่นั้นหดตัวลง ดังนั้นจึงควรใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดไมเกรนเท่านั้น 

หากใช้ยาไมเกรนติดต่อกันโดยหวังผลป้องกันไม่ให้เกิดไมเกรนนั้นจะนับเป็นการใช้ยาไมเกรนผิดวิธี และส่งผลอันตรายเช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดในสมองแตก หัวใจวาย เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองอยู่ก่อนแล้ว


วิธีแก้ปวดไมเกรนโดยไม่ใช้ยา

การใช้ยาไมเกรนในการรักษาและรรเทาอาการปวดศีรษะเป็นวิธีรักษาที่ให้ผลค่อนข้างดีและรวดเร็ว แต่มักจะมาพร้อมกับข้อควรระวังเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายคนอาจไม่อยากรักษาอาการปวดไมเกรนด้วยการใช้ยาไมเกรน ดังนั้นในหัวข้อนี้จะมานำเสนอวิธีแก้ปวดไมเกรนโดยไม่ใช้ยา ดังนี้

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

พฤติกรรมบางอย่างที่เป็นปัจจัยกระตุ้นอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างเช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด อยู่ในที่มีเสียงดังแสงจ้า หากปรับเปลี่ยนและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ได้ก็จะช่วยให้อาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบน้อยลงได้

2. ใช้การประคบเย็นเข้าช่วย

ใช้การประคบเย็นเข้าช่วย

การประคบเย็นบริเวณหน้าผากและการประคบร้อนบริเวณท้ายทอยจะช่วยให้หลอดเลือดที่ขยายตัวหดลง ลดอาการปวดศีรษะจากไมเกรนลงได้

3. นวดกดจุดบรรเทาอาการปวดไมเกรน

นวดกดจุดบรรเทาอาการปวดไมเกรน

เป็นอีกวิธีที่ค่อนข้างนิยมใช้ โดยทำการกดจุดบริเวณฝ่ามือฝั่งระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ต่อมากดจุดที่เท้า บริเวณนิ้วโป้งและนิ้วชี้กดเข้าทิศทางเข้าหาฝ่าเท้า และกดจุดบริเวณคอด้านบน กดย้อนขึ้นไปทางศีรษะ จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะจากไมเกรนได้

4. ฝังเข็มแก้ไมเกรน

ฝังเข็มแก้ไมเกรน

การฝังเข็มแก้ไมเกรนเป็นศาสตร์แพทย์แผนจีน โดยการฝังเข็มจะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น จึงทำให้อาการปวดไมเกรนลดลง

5. ฉีดยาบรรเทาไมเกรน

ฉีดยาบรรเทาไมเกรน

กลไกการออกฤทธิ์ของยาระงับไมเกรนจะไปยับยั้ง calcitonin gene-related peptide หรือ CGRP ซึ่งมีหน้าที่ขยายหลอดเลือด ซึ่งอาการปวดไมเกรนก็มีสาเหตุที่มาจากหลอดเลือดขยายตัว เมื่อ CGRP ไม่ไปขยายหลอดเลือด อาการปวดไมเกรนก็จะหายไปนั่นเอง แต่การใช้ยาไมเกรนแบบฉีดนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าฉีดเดือนละครั้ง และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

6. ฉีดโบท็อกรักษาไมเกรน

ฉีดโบท็อกรักษาไมเกรน

การฉีดโบท็อกรักษาไมเกรนเป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาป้องกันไมเกรนที่จำเป็นต้องรับประทานทุกวัน มีรายงานการศึกษาว่าการฉีดโบท็อครักษาไมเกรนสามารถลดอาการปวดศีรษะไมเกรนลงได้มากกว่า 60-70% เลยทีเดียว 

การทำงานของการฉีดโบท็อครักษาไมเกรนนั้น โบท็อคจะเข้าไปยับยั้งปลายประสาทที่เป็นตัวกลางในการส่งสัญญาณความเจ็บปวด เมื่อถูกยับยั้งจึงทำให้อาการปวดศีรษะนั้นบรรเทาลงได้นั่นเอง


แนวทางการดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยไมเกรน

ผู้ที่เป็นโรคไมเกรนนั้นอาจจะไม่สามารถรักษาได้อย่างหายขาด แต่อย่างไรก็ตามสามารถดูแลตนเองให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้น้อยที่สุดได้ โดนมีหลักปฏิบัติตนดังนี้

1. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น

อาการไมเกรนจะกำเริบส่วนใหญ่มักเกิดจากการมีปัจจัยต่าง ๆ ไปกระตุ้น ดังนั้นหากทราบอยู่แล้วว่าตนเป็นโรคไมเกรน ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่สามารถทำให้อาการไมเกรนกำเริบได้ เช่น การอยู่ในที่สภาพอาการแปรปรวน อยู่ในที่มีแสงแดด การรับประทานเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน แอลกอฮอล์ การดมกลิ่นฉุนรุนแรง ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

2. ดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ

การดูแลสุขภาพกายและใจที่ดีจะช่วยทำให้ความเครียดลดลง ซึ่งความเครียดเป็นหนึ่งในสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้ง่าย

3. เข้ารับการรักษาหากอาการรุนแรง

หากอาการปวดไมเกรนรุนแรง ไม่ควรอดทนหรือหายาไมเกรนรับประทานเอง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง


ปรึกษาการใช้ยาไมเกรนกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การใช้ยาไมเกรนสำหรับรักษาบรรเทาอาการปวดไมเกรนที่ให้ผลตรงจุดนั้นอาจจำเป็นต้องใช้ยาสำหรับรักษาไมเกรนโดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตามยาไมเกรนมักจะมีข้อบ่งชี้ ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังและผลข้างเคียงที่ไม่ถึงประสงค์อยู่มากมาย 

ดังนั้นก่อนจะใช้ยาไมเกรนควรเข้าปรึกษากับแพทย์ก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือมีการใช้ยาอยู่เป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงและอันตรายจากการใช้ยาไมเกรนได้มากที่สุด


ข้อสรุป

ไมเกรนเป็นอาการปวดศรีษะที่จำเพาะกว่าการปวดศีรษะทั่วไป สังเกตได้จากอาการปวดที่รุนแรงและรู้สึกตุ้บ ๆ เป็นจังหวะ นอกจากนี้อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย โดยอาการไมเกรนนี้เกิดจากการที่หลอดเลือดในสมองเกิดการขยายตัว ทำให้เกิดอาการปวดนั่นเอง 

ดังนั้นวิธีแก้ปวดไมเกรนที่ให้ผลตรงจุดที่สุดคือการใช้ยาแก้ปวดไมเกรน แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยาไมเกรนในการรักษาจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังเนื่องจากหากใช้ผิดวิธีอาจก่ออันตรายมากกว่าเดิมได้ และควรจะใช้อยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการใช้ยาไมเกรน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.migrainethailand.com/