|

ปวดเมื่อย ปวดหัว อาจเป็นออฟฟิศซินโดรมจริงไหม? อยากรู้ต้องอ่าน!

ออฟฟิศซินโดรม

วัยทำงานหลายคนที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมนานๆ อาจประสบปัญหาปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดหลังเป็นประจำซึ่งเป็นอาการหนึ่งของออฟฟิศซินโดรม อาการเหล่านี้อาจไม่เป็นอันตรายมากแต่ไม่ควรปล่อยไว้เพราะอาการอาจรุนแรงมากขึ้นและนำไปสู่โรคอื่นที่อันตรายมากขึ้น มารู้จักโรคออฟฟิศซินโดรมทั้งอาการ วิธีรักษา  สาเหตุ และอื่นๆ อีกมากมายได้ในบทความนี้


ภาวะออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) คือ อาการที่มักพบบ่อยในวัยทำงานตามชื่อของอาการ เป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด สาเหตุหลักมักมาจากการอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน มักเป็นอิริยาบถในชีวิตประจำวัน เช่น นั่งห่อไหล่ นั่งหลังค่อม ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อตึง ซึ่งอาจเรื้อรังจนนำไปสู่โรคทางกล้ามเนื้อหรือกระดูก เช่น นิ้วล็อก กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น


สาเหตุอาการออฟฟิศซินโดรม

สาเหตุออฟฟิศซินโดรม

สาเหตุที่การกระทำเดิมๆ อาจจำไปสู่ออฟฟิศซินโดรมได้มีสองประเภทคือสาเหตุจากสภาพแวดล้อมและสาเหตุจากสภาพร่างกาย

สาเหตุจากสภาพแวดล้อม

สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมกับการทำงาน เช่น เก้าอี้สูงหรือต่ำเกินไป  โต๊ะไม่พอดี ไม่เหมาะกับสรีระของเรา อาจทำให้ต้องอยู่ในท่าที่ทำให้ปวดเนื้อตัวได้และนำไปสู่ออฟฟิศซินโดรม

สาเหตุจากสภาพร่างกาย

การพักผ่อนไม่เพียงพอ ทานอาหารไม่ตรงเวลา ความเครียด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พบได้ง่ายในวัยทำงานและสามารถนำไปสู่ออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน นอกจากนี้ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ก็สามารถทำให้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้หากไม่ดูแลร่างกายให้ดี


5 อาการออฟฟิศซินโดรมยอดฮิต

 อาการออฟฟิศซินโดรม

อาการของออฟฟิศซินโดรมที่พบบ่อยมี 5 อาการด้วยกันดังนี้

1. ปวดหลัง คอ บ่า ไหล่

หากนั่งทำงานในท่าที่ผิดสรีระร่างกาย อาจทำให้ปวดหลัง ปวดคอ ปวดบ่าและไหล่ได้ไม่ยาก เพราะการนั่งท่าที่ไม่เหมาะสมเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อตึง อาการปวดเหล่านี้พบได้บ่อยในผู้ที่เป็นออฟฟิศซินโดรมและเป็นอาการปวดที่มักกระจายเป็นวงกว้าง อาจปวดร้าวบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย

2. ปวดศีรษะ

อาการปวดหัวออฟฟิศซินโดรมมีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ เป็นการร้าวจากการปวดหลัง บ่า ไหล่ และคอ หรือปวดตาจนร้าวมาปวดศีรษะด้วย หากเป็นออฟฟิศซินโดรมอาการหนักก็อาจนำไปสู่ไมเกรนได้

3. ปวดข้อมือ นิ้วล็อค

หลายคนอาจเคยนิ้วล็อค ปวดข้อมือจากการพิมพ์แป้นพิมพ์หรือกดเมาส์เป็นเวลานานโดยไม่พักผ่อนหรือยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อกดทับพังผืดทับเส้นประสาท

4. ปวดตา สายตาเบลอ ตาพร่า

วัยทำงานหลายคนต้องทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การจ้องคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานอาจทำให้เรากระพริบตาน้อยลงและอาจทำให้ตาแห้งจนเกิดอาการปวดตา ตาพร่า เบลอ ตาล้า

5. ปวดขา เหน็บชา

การนั่งที่เดิมเวลานานนอกจากจะทำให้ปวดหลัง ปวดคอแล้ว อาจทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับจนเลือดไหลเวียนผิดปกติ นำไปสู่อาการขาปวดขา เหน็บชาที่ขา หากมีอาการดังกล่าวควรปรับพฤติกรรมและรีบปรึกษาแพทย์เพราะอาจรุนแรงมากขึ้นในอนาคตจนขาไม่มีแรงได้


พฤติกรรมเสี่ยงออฟฟิศซินโดรมมีอะไรบ้าง

พฤติกรรมเสี่ยงออฟฟิศซินโดรม

พฤติกรรมที่ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรมเป็นอิริยาบถในชีวิตประจำวันที่เราอาจไม่รู้ตัว ได้แก่

  1. นั่วไขว่ห้าง – ท่านั่งที่ทำให้ขาข้างหนึ่งถูกกดทับเป็นเวลานานนี้อาจทำให้เลือดไหลเวียนผิดปกติ
  2. นั่งหลังค่อม ห่อไหล่ – อาจทำให้ปวดคอ บ่า ไหล่
  3. ไม่ขยับตัวหรือเปลี่ยนท่าระหว่างนั่งทำงาน – อาจทำให้กล้ามเนื้อยึดหรือถูกกดทับ
  4. เมาส์หรือคีย์บอร์ดห่างจากตัว – ทำให้ต้องเอื้อมแขนเวลาใช้งาน นำไปสู่อาการปวดเมื่อย
  5. โต๊ะทำงานและเก้าอี้ไม่พอดีกับตัว – ทำให้ต้องปรับท่านั่งตามเก้าอี้และโต๊ะ ไม่เป็นไปตามสรีระตนเองและอาจเป็นท่านั่งที่ไม่เหมาะสม
  6. ความเครียด พักผ่อนไม่พอ สารอาหารไม่พอ – ทำให้สุขภาพย่ำแย่ลงและอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของออฟฟิศซินโดรม
  7. จอคอมพิวเตอร์สูงหรือต่ำเกินไป – อาจมีผลกับท่านั่งทำให้ต้องนั่งในท่าที่ไม่สบายตัว

กลุ่มเสี่ยงภาวะออฟฟิศซินโดรม

  • ผู้ที่ใช้แรงงานเป็นประจำ เช่น นักกีฬา พนักงานแบกหาม พนักงานขายกาแฟ อาจมีอาการออฟฟิศซินโดรมเพราะการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ใช้แรงมากเกินไป ยกของผิดท่า อาจทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บเฉียบพลันและนำไปสู่ปัญหาเรื้อรังได้
  • ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ ต้องอยู่ในท่าเดิมนานๆจนมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อตึงและอาจมีความเครียดจากการทำงาน มีความเสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

อาการออฟฟิศซินโดรมแบบใดที่ควรพบแพทย์

รักษาออฟฟิศซินโดรม
  • มีอาการเรื้อรัง ปวดเมื่อยต่อเนื่องและยาวนาน
  • เกิดอาการปวดตามตัวแบบออฟฟิศซินโดรมบ่อย
  • ปวดตลอดเวลา
  • เหน็บชา
  • ระบุตำแหน่งปวดที่ชัดเจนไม่ได้
  • มีอาการกล้ามเนื้อหรือกระดูกอักเสบร่วมด้วย

การตรวจวินิจฉัยโรคออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรม-วินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยโรคออฟฟิศซินโดรม มีดังนี้

1. ถามประวัติผู้ป่วย

ขั้นตอนนี้เป็นการถามผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุที่เป็นไปได้ของออฟฟิศซินโดรม เช่น อิริยาบถในการทำงาน มีความเครียดจากการทำงานไหม

2. ตรวจร่างกาย

เพื่อหาตำแหน่งที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด อาจมีการคลำหาจุดเจ็บ และประเมินสุขภาพร่างกายทั่วไป

3. ประเมินความเจ็บปวด

มี 2 วิธี คือ

  • บอกความรู้สึกเป็นตัวเลข  (numerical rating scales: NRS) – ใช้ตัวเลข 0-10 บอกระดับความเจ็บปวด โดยเลข 0 คือไม่มีอาการ เลข 10 คือปวดรุนแรงมาก
  • เฟเชียล สเกลส (facial scales) – ใช้รูปภาพสีหน้าบอกระดับความเจ็บปวด เช่น หน้ายิ้มคือไม่เจ็บ หน้าร้องไห้คือปวดมาก

4. รักษาออฟฟิศซินโดรม

การรักษาอาจสามารถทำได้ด้วยตนเองหรือต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญช่วย เช่น ทำกายภาพบำบัด ใช้ยา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการออฟฟิศซินโดรม สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหัวข้อถัดไป

5. ให้คำแนะนำหลังฟื้นฟู

ช่วยเรื่องปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกัรการเป็นออฟฟิศซินโดรมซ้ำ

6. ติดตามการรักษา

วัดความถี่ของอาการปวด ระดับความปวด และประเมินการเคลื่อนไหวเพื่อการรักษาและฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ


วิธีรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม

วิธีรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม ได้แก่

1. การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน

โต๊ะทำงาน-ออฟฟิศซินโดรม

หากมีปัญหามาจากท่านั่งที่ไม่เหมาะสม การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานอาจช่วยรักษาออฟฟิศซินโดรมได้ เช่น ใช้เก้าอี้ที่ช่วยลดอาการปวดหลัง ปรับตำแหน่งเมาส์และคีย์บอร์ด ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

2. การปรับอิริยาบถให้ถูกต้องเหมาะสม

ท่านั่งรักษาออฟฟิศซินโดรม

หากต้องนั่งทำงานนานๆ หลีกเลี่ยงการนั่งหลังค่อม นั่งห่อไหล่ นั่งไขว่ห้าง พยายามนั่งตัวตรง เพื่อให้เลือดลมเดินได้สะดวก อาจใช้หมอนรองเป็นตัวช่วยปรับอิริยาบถ

3. การออกกำลังกายเป็นประจำ

ออกกำลังกายออฟฟิศซินโดรม

หากต้องการป้องกันออฟฟิศซินโดรมในระยะยาว การออกกำลังกายเป็นประจำเป็นตัวเลือกที่ดีเพราะสามารถช่วยเพื่อความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ อีกทั้งยังช่วยลดความเครียด เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง

4. การทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อ

ยืดกล้ามเนื้อรักษาออฟฟิศซินโดรม

การบริหารกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธีจะสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อตึงน้อยลง

5. การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยยา

ยารักษาออฟฟิศซินโดรม

หากเป็นออฟฟิศซินโดรมอาการหนัก อาจต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นเพื่อบรรเทาอาการปวด ทั้งนี้การใช้ยาควรผ่านการปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

6. การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือก

นวดรักษาออฟฟิศซินโดรม
  • การฝังเข็ม – กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดอาการปวด
  • การนวดแผนไทย – นวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด เน้นบรรเทาความเจ็บปวด

7. การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shockwave Therapy)

shockwave

Shockwave หรือคลื่นกระแทก เป็นการใช้คลื่นกระแทกไปจุดที่ปวด กระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อใหม่ วิธีนี้ช่วยลดความเจ็บปวดได้ถึง 50% เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยหรือกล้ามเนื้ออีกเสบเรื้อรังจากออฟฟิศซินโดรม นอกจากนี้การใช้ shockwave ยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน สลายหินปูนในเส้นเอ็น และมีประโยชน์อื่นๆ อีกมาก


อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรมอาจมีอาการข้างเคียงอื่นร่วมด้วย เช่น

  • นิ้วล็อค
  • ตาพร่า
  • เอ็นข้อมืออักเสบ
  • ปวดศีรษะ
  • เหน็บชา

แนวทางการป้องกันภาวะออฟฟิศซินโดรม

วิธีป้องกันออฟฟิศซินโดรม
  • เปลี่ยนท่า เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆเพื่อลดอาการกล้ามเนื้อถูกกดทับ
  • ลุกจากที่นั่ง เดินไปเดินมาระหว่างการทำงานเพื่อขยับร่างกาย
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • ยืดกล้ามเนื้อระหว่างทำงาน
  • ปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ตำแหน่งคีย์บอร์ดและเมาส์ เพื่อให้สามารถทำงานได้ในท่านั่งที่เหมาะสม
  • ผ่อนคลายบ้างเพื่อให้เครียดน้อยลง
  • พักผ่อน ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อให้สารอาหารเพียงพอ

รักษาออฟฟิศซินโดรมที่ไหนดี

หากออฟฟิศซินโดรมอาการหนัก ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อยับยั้งอาการ ควรเลือกที่รักษาที่มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเทคโนโลยีและเครื่องมือพร้อมสำหรับการวินิจฉัยและรักษา มีนักกายภาพบำบัด การให้บริการดูแลใส่ใจรวมถึงมีการติดตามผลการรักษาเพื่อป้องกันการเป็นออฟฟิศซินโดรมซ้ำในอนาคต 


ข้อสรุป

โรคออฟฟิศซินโดรม เป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อที่พบได้บ่อยในวัยทำงานจากการทำอิริยาบถเดิมที่ไม่เหมาะสมซ้ำๆ เช่น นั่งห่อไหล่ นั่งไขว่ห้าง ส่งผลให้เกิดการกดทับของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อตึง ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามมา หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจนำไปสู่กล้ามเนื้อ กระดูก หรือเส้นเอ็นอักเสบได้สามารถบรรเทาอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรมได้หลายวิธี เช่น shockwave หรือคลื่นกระแทก 

ทั้งนี้การใช้ยาควรผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อน การรักษาสุขภาพตนเอง เช่น พยายามผ่อนคลายความเครียด ออกกำลังกายบ่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อ สามารถช่วยป้องกันออฟฟิศซินโดรมได้