PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่อันตรายมากกว่าที่คุณคิด

อากาศที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราประกอบด้วยแก๊สหลากหลายชนิดรวมถึงฝุ่นละอองอีกด้วย และถ้าเมื่อไรก็ตามที่ฝุ่นละอองนั้นมีค่า PM 2.5 เกินระดับมาตรฐานที่ถือว่าปลอดภัย เราควรสนใจเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายจนเกิดเป็นโรคร้ายเรื้อรังได้ เราจะมาทำความเข้าใจว่า PM 2.5 เท่าไหร่ถึงอันตราย ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากอะไรได้บ้าง ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 มีอะไรบ้าง และมีวิธีอะไรบ้างที่จะช่วยป้องกันอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ตามเนื้อหาด้านล่างต่อไปนี้
PM 2.5 คืออะไร เกิดได้จากปัจจัยอะไรบ้าง
PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็กมากกว่าเส้นผม มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน จนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด แทรกซึมเข้าสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่จะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย
ดังนั้น เราจะมาค้นหาสาเหตุว่า ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้หาวิธีดูแลและป้องกันตัวเองก่อนที่จะทำอันตรายต่อสุขภาพ อย่างไรก็ดีต้นเหตุที่ก่อให้เกิด PM 2.5 ก็คือคนนั่นเอง เช่น
- การที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจนหนาแน่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ก่อให้เกิดขยะ ของเสียเป็นปริมาณมาก ทำให้ต้องกำจัดขยะ เช่น เผาขยะจนเกิดเขม่าควันลอยในอากาศ
- การจราจรที่คับคั่ง ทำให้มีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากเครื่องยนต์มากขึ้น จนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ
- ความแออัดจากการมีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น มีฝุ่นละอองเกิดจากการก่อสร้างตึกรามบ้านช่องขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งปิดกั้นทางลมจนทำให้ฝุ่นละอองลอยนิ่งในอากาศ
- การเผาไหม้เพื่อการเพาะปลูกพืชในพื้นที่โล่งกว้างจนเกิดเป็นฝุ่นควันปริมาณมาก
- การที่แก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เกิดจากการสันดาปภายในเครื่องยนต์ดีเซลถูกปล่อยออกสู่อากาศเป็นปริมาณมากจนไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับโอโซนและแสงแดด แล้วกลายเป็นฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เป็นตัวสร้างปัญหาให้แก่สุขภาพของคนที่อยู่ในบริเวณนั้น ๆ
ค่าฝุ่น PM 2.5 ระดับใดจึงอันตรายต่อสุขภาพ

PM 2.5 เท่าไหร่ถึงอันตราย ตอบได้ง่าย ๆ เลยว่าถ้าค่าของฝุ่นละอองมากกว่าค่ามาตรฐานก็ย่อมอันตราย โดยค่ามาตรฐานของ PM 2.5 ตามองค์การอนามัยโลกก็คือ 2.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชม. ส่วนในไทยได้ใช้ค่ามาตรฐานใหม่ของ PM 2.5 ที่ได้รับการปรับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คือ 37.5 มคก./ลบ.ม.ใน 24 ชม. ในขณะที่ค่าเฉลี่ยสำหรับเวลา 1 ปีได้เปลี่ยนจาก 25 มคก./ลบ.ม. เป็นไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. ดังนั้นค่าฝุ่น PM 2.5 ที่นับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายคือ ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกิน 37.5 มคก.
สำหรับค่าดัชนีคุณภาพอากาศที่แสดงถึงระดับสารมลพิษยังคงแสดงออกมาได้เป็น 5 สี พร้อมข้อแนะนำ
ในการปฏิบัติตนในเรื่องของสุขภาพด้วยคือ
- สีฟ้า แสดงถึงอากาศดีมาก เหมาะทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ (ค่า PM 0-25)
- สีเขียว แสดงว่าอากาศดี เพียงแต่ว่ากลุ่มเสี่ยงควรระวังตัว (ค่า PM 26-37)
- สีเหลือง แสดงว่าอากาศปานกลาง ที่ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงควรเพิ่มความระวังตัว หลีกเลี่ยงกิจกรรมการแจ้ง (ค่า PM 38-50)
- สีส้ม แสดงถึงอากาศเริ่มแย่ ทั้งประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงไม่ควรทำกิจกรรมการแจ้ง และควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 (ค่า PM 51-90)
- สีแดง หมายถึงอากาศแย่มาก ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 (ค่า PM 91 ขึ้นไป)
ผลเสียของ PM 2.5 ต่อร่างกายโดยเฉพาะมีอะไรบ้าง

ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ต่อร่างกายนั้นส่วนใหญ่จะมีผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจและปอด ดังนั้น ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งได้ผ่านทางลมหายใจจะเข้าสะสม แล้วเกิดการตกตะกอนอยู่ที่อวัยวะภายใน เช่น
- ปอด จนเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด จนท้ายสุดอาจกลายเป็นมะเร็งปอดได้
- หลอดเลือด จนเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวาย หรือ หลอดเลือดสมองตีบ ทั้งยังสามารถทำให้เกิดภาวะความดันเลือดสูง เลือดมีความหนืดสูง จนเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในสมอง เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก จนท้ายสุดเกิดเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด
สำหรับสถานเบาจากผลกระทบจาก PM 2.5 ก็จะเป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับไซนัสอักเสบ ไอเรื้อรัง หรือ ผดผื่นคันตามผิวหนัง คันตา ตาแดง เปลือกตาบวม ปวดหัว เป็นต้น
ป้องกันตัวเองจาก PM 2.5 อย่างไรให้ได้ผล
ความเจริญนำมาซึ่งภยันตราย เช่น PM 2.5 ดังนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้และพึงระวังตนก็คือ การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 เบื้องต้นมีดังนี้
- สวมหน้ากากอนามัยปิดจมูกอย่างถูกวิธี ควรเป็นหน้ากากที่สามารถกรองฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ เช่น หน้ากาก N95 (กรองฝุ่น PM ได้อย่างน้อย 95%), หน้ากาก N99 (กรองฝุ่น PM ได้มากถึง 95%) และไม่ควรนำหน้ากากที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีปริมาณฝุ่นเยอะ
- ให้ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5 ภายในบ้าน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และกิจกรรมที่ทำให้เกิดควัน เช่น จุดธูปเทียน เผากระดาษ เป็นต้น
- หมั่นตรวจเช็กสุขภาพร่างกายเป็นประจำ
- งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพราะการหายใจแรงจะเพิ่มการสูดฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดมากขึ้น
- ถ้าเป็นไปได้ให้ล้างจมูกทุกวันอย่างถูกวิธี เพื่อลดการติดเชื้อและการเกิดโรค
- ปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในที่พักอาศัย ทำความสะอาดและมีระบบระบายอากาศที่ดีพอ
สรุป ควรเลี่ยง PM 2.5 เพื่อคุณภาพชีวิต
PM 2.5 ที่เป็นปัญหาฝุ่นพิษที่ไม่ป้องกันไม่ได้เพราะสามารถสร้างความเสียหายให้กับสุขภาพได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงมีครรภ์ เป็นต้น การเรียนรู้ถึงวิธีการดูแลตัวเองในสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยค่าฝุ่น PM 2.5 ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นก็จะช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข ถึงพร้อมด้วยสุขภาพแข็งแรง