ตาเหล่ ตาเข หากปล่อยไว้อาจทำให้ตาเขถาวร

อาการผิดปกติทางดวงตาตาเหล่ ตาเขเป็นปัญหาทางบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในประจำวัน นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูไม่เป็นธรรมชาติแล้ว ยังมีความผิดปกติที่เกิดจากภายในส่งผลให้มองภาพไม่ชัด  ใช้งานดวงตาได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ปัญหาเหล่านี้จึงนับว่าเป็นสิ่งที่ควรรีบแก้ไข

สำหรับเด็กเล็กที่มีอายุไม่ถึง 6 เดือน มักเกิดภาวะตาเหล่ ตาเขที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของกล้ามเนื้อบริเวณดวงตาที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และอาจจะหายไปเองเมื่อโตขึ้น อาจใส่แว่นตาเพื่อช่วยรักษาอาการในเบื้องต้นได้ แต่ทางที่ดีควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

เพราะดวงตาคือหน้าต่างของดวงใจ และลูกก็คือแก้วตาของพ่อแม่ คุณคงไม่อยากเห็นดวงตาของลูกน้อยเกิดความผิดปกติกลายเป็นเด็กตาเหล่ เมื่อรู้ตัวว่าเกิดความผิดปกติ อย่าปล่อยทิ้งไว้ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนที่จะสายเกินไป เพราะหากไม่รีบทำการรักษาอาจทำให้ตาเขอย่างถาวร ตาเหล่ รักษาได้ไหมคอลัมน์นี้มีคำตอบ


ตาเหล่ ตาเข

ตาเหล่ หรือตาเข (Strabismus, Squint) คืออาการผิดปกติของดวงตาที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก แต่ก็สามารถพบได้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยจะมีลูกตาที่ไม่อยู่ในแนวตรงตามธรรมชาติ ในขณะที่ตาเหล่เทียม (Pseudostrabismus) มักพบในเด็กที่สันจมูกยังไม่โต และบริเวณหัวตากว้าง จึงดูเหมือนตาเหล่เข้าด้านใน 

เมื่อเด็กโตขึ้นดั้งจมูกสูงขึ้น อาการตาเหล่ก็จะหายไป ส่วนตาเหล่ซ่อนเร้น (Phoria) คือภาวะที่ตาทั้งสองข้างอยู่แนวตรงปกติ แต่เมื่อปิดตาข้างหนึ่ง ตาที่ถูกปิดจะเลื่อนจากตรงกลาง เมื่อปิดตาอีกข้างก็จะกลับมาเป็นปกติ


ตาเหล่ เกิดจากอะไร

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นว่าตาเหล่ ตาเขนั้นสามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุ และสาเหตุของโรคตาเหล่ ตาเขนั้นในแต่ละช่วงอายุก็ยังมีสาเหตุที่แตกต่างกันไปอีกด้วย ดังนี้

ตาเหล่ในเด็ก

เด็กทารกตาเหล่อาจพบได้บ้าง เนื่องจากในเด็กแรกเกิดกล้ามเนื้อตายังไม่พัฒนาเต็มที่ จึงเกิดภาวะตาเหล่ชั่วคราวขึ้นได้ แต่เมื่ออายุเกิน 6 เดือนแล้วภาวะตาเหล่ ตาเขยังไม่หายไปแสดงว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ

  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นโรคตาเหล่ ก็อาจส่งต่อความผิดปกติมาสู่เด็กได้
  • สายตาผิดปกติ ในเด็กก็สามารถมีสายตายาวแต่กำเนิด สายตาเอียง หรือสายตาสั้นได้ เมื่อเด็กมีปัญหาทางสายตาอาจต้องเพ่งเพื่อให้มองเห็นภาพได้ชัดขึ้น การเพ่งบ่อย ๆ เป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อตาไม่สมดุลและเกิดโรคตาเหล่ ตาเขขึ้นได้
  • โรคทางตา หากมีโรคทางตาข้างใดข้างหนึ่งที่ทำให้การมองเห็นไม่ปกติ อาจทำให้มีการใช้งานกล้ามเนื้อตาไม่เท่ากันและเป็นสาเหตุของโรคตาเหล่ได้
  • ความพิการของกล้ามเนื้อกลอกลูกตา
  • ความผิดปกติทางสมอง ระบบประสาทส่วนกลาง
  • โรคมะเร็งจอตาในเด็ก ก้อนมะเร็งจะไปบังจุดภาพชัด ทำให้เกิดภาวะสายตาผิดปกติและโรคตาเหล่ขึ้น 

ตาเหล่ตอนโต

โรคตาเหล่ไม่จำเป็นต้องเป็นตั้งแต่กำเนิด หลาย ๆ คนอาจพบโรคตาเหล่ตอนโตได้ ซึ่งโรคตาเหล่ เกิดจากโรคทางกายอื่น ๆ ดังนี้

  • สายตาผิดปกติ โดยเกิดขึ้นได้ทั้งกับสายตาสั้น ยาว และเอียง ยิ่งในเด็กมักจะมีการเพ่งสายตามากกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคตาเหล่ ตาเขจากการเพ่งได้มาก
  • โรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้อกลอกลูกตาเป็นอัมพาต โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • โรคทางสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง 
  • โรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน
  • อุบัติเหตุที่กระทบบริเวณดวงตาและสมอง

จากที่กล่าวมานั้นเป็นสาเหตุที่อาจทำให้เกิดโรคตาเหล่ในเด็กและโรคตาเหล่ในผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคตาเหล่ส่วนมากมักไม่พบสาเหตุ หรือไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด


ประเภทของอาการตาเหล่ ตาเข

สำหรับผู้ที่มีดวงตาปกติ กล้ามเนื้อที่ติดกับดวงตาแต่ละข้าง จะช่วยสนับสนุนการทำงานให้ดวงตาทั้ง 2 ข้างเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน แต่หากเกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อข้างใดข้างหนึ่ง ก็จะส่งผลให้เกิดอาการตาเหล่ ตาเข และสมองเองก็อาจไม่สามารถรวมภาพให้ตาแต่ละข้างมองเห็นอย่างเป็นปกติได้ ซึ่งอาการผิดปกติทางดวงตาแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้  

1. ตาเขลงล่าง (Hypotropia)

อาการของตาเขลงล่างเกิดจากการผิดปกติของดวงตา ที่มีลักษณะแกนสายตามองลงล่างโดยไม่กลับมาอยู่ในทิศทางปกติ เกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งพบได้น้อยกว่าอาการตาเหล่แบบตาเขออกนอกและตาเหล่เข้าใน

2. ตาเหล่ขึ้นบน (Hypertropia)

ตาเหล่ขึ้นบนมีอาการแกนสายตามองขึ้นบนอยู่ตลอดเวลา มักเกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของศีรษะ หรือมีภาวะอัมพาตของกล้ามเนื้อตา ซึ่งตาเหล่ชนิดนี้พบได้ไม่บ่อยนัก 

3. ตาเขออกนอก (Exotropia)

ตาเข ออกนอกจะเกิดอาการตาเหล่ข้างเดียวก่อน โดยดวงตาจะเบนออกนอกหรือเฉียงไปทางหางตา เกิดจากความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อหัวตา อาจเกิดขึ้นตอนนอนกลางวันหรือตอนเหนื่อยล้ามาก ๆ พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 

4. ตาเหล่เข้าใน (Esotropia)

หรือเรียกอีกอย่างว่าตาขี้เกียจ (Amblyopia) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากกล้ามเนื้อตาขาดความสมดุล ตาเหล่เข้าในพบได้ในเด็ก และผู้มีสายตายาวมาก ที่ใช้สายตาเพ่งมองสิ่งต่าง ๆ จึงทำให้ดวงตาเขเข้าด้านในหรือมุดเข้าหาหัวตา 


วิธีวินิจฉัยอาการตาเหล่ ตาเข

เมื่อสงสัยว่ามีอาการตาเหล่ ตาเขแล้วเข้าพบจักษุแพทย์ จะได้รับการตรวจตาหลาย ๆ อย่างเพื่อประกอบคำวินิจฉัย ดังนี้

  • มองด้วยตาเปล่า แพทย์จะให้มองไปยังวัตถุหนึ่งแล้วดูว่าตาดำทั้งสองข้างไปในทิศทางเดียวกับวัตถุนั้นหรือไม่ หรืออาจให้ปิดเปิดตาทีละข้าง (Cover/Uncover Test) แล้วให้มองวัตถุแล้วดูว่ามีดวงตาข้างไหนที่มีการเบนเข้าหรือเบนออก และเบนเข้าหรือเบนออกมากน้อยแค่ไหน
  • ตรวจด้วยรีเฟลกซ์กระจกตาโดยการฉายไฟ (Corneal Light Reflex) 
  • การวัดสายตา 
  • การตรวจจอประสาทตา

หากผู้ป่วยมีปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคตาเหล่ อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น ระบบประสาทและสมอง


วิธีแก้ตาเหล่

ผู้ป่วยที่มีภาวะตาเหล่ ตาเขสามารถรักษาหายได้หากมีสาเหตุของโรคเกิดจากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไทรอยด์ เส้นประสาทตาขาดเลือด ที่ไม่ใช่สาเหตุจากต้อกระจกที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดแก้ไข โดยวิธีการรักษาตาเหล่จะมีทั้งแบบผ่าตัดและแบบไม่ผ่าตัด ซึ่งจะต้องรักษาในโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญร่วมกับทีมกุมารแพทย์ ตาเข แก้ได้ไหมเรามีคำตอบดังนี้ 

วิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัด

กรณีตาเหล่ ตาเขที่เกิดจากสายตาสั้น ยาว หรือเอียงสามารถใส่แว่นตาแก้ไขอาการได้และยังสามารถรักษาด้วยการฉีด Botox เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อดวงตาคลายตัว แต่ถ้าทำแล้วความสมดุลของดวงตาไม่กลับคืนมาก็จะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด 

วิธีการรักษาแบบผ่าตัด

เป็นการผ่าตัดกล้ามเนื้อ ตาเขเพื่อให้มีความสมดุล อาจใช้เวลาการผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดตาเขจะต้องนอนพักที่โรงพยาบาลประมาณ 1 – 2 วัน ระหว่างนี้ผู้ป่วยจะต้องปิดตาไว้ 1 วัน และสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติหลังจากผ่าตัด 1 สัปดาห์


ภาวะแทรกซ้อนจากอาการตาเหล่

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโรคตาเหล่ ตาเขนั้นส่งผลกระทบต่อบุคลิคภาพของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ยิ่งในเด็กเล็กอาจถูกเพื่อนร่วมห้องรังแก หรือล้อเลียนจนเกิดปมด้อย นอกจากจะส่งผลทางจิตใจอย่างมากแล้วนั้น โรคตาเหล่ ตาเขก็ส่งผลกระทบต่อโรคทางกายหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนี้

  • โรคตาขี้เกียจ เพราะอาการตาเหล่ทำให้ดวงตามีการใช้งานแต่ละข้างไม่เท่ากัน ตาข้างที่อ่อนแอกว่าจะไม่ถูกใช้งาน สมองจะเริ่มไม่รับและแปรผลภาพจากตาข้างที่อ่อนแอ และเมื่อไม่มีการใช้งานเป็นเวลานานภาพจากตาที่เหล่ก็จะเริ่มมัวทีละน้อย จนนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นถาวร หรือตาบอด แต่สำหรับภาวะแทรกซ้อนนี้จะไม่เกิดในเด็กที่อายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปเนื่องจากสมองมีพัฒนาการด้านการมองเห็นอย่างสมบูรณ์แล้ว
  • กล้ามเนื้อตาทำงานหนัก ในผู้ป่วยโรคตาเหล่ ตาเขนั้นเพื่อปรับให้การมองเห็นดีขึ้น อาจมีการเพ่งหรือหยีตาบ่อย ๆ ก่อให้เกิดอาการตาล้าได้
  • อาการอื่น ๆ ที่มีสาเหตุจากโรคตาเข เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

ในรายที่ได้รับการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาเขแล้วก็ยังสามารถพบภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้

  • ค่าสายตาผิดปกติ การผ่าตัดรักษาโรคตาเหล่ในช่วงแรกทำให้มีการปรับแก้ค่าสายตาที่น้อยหรือมากกว่าสายตาปกติ อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดซ้ำ
  • กล้ามเนื้อตาทำงานหนัก มักเกิดหลังผ่าตัดไปประมาณ 2 ปี กล้ามเนื้อบริเวณเบ้าตาอาจทำงานหนักเกินไป ควรเข้ารับการผ่าตัดซ้ำ
  • ภาวะตาเหล่ออกร่วมกับตาหมุน ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดตาเหล่ก็ยังมีโอกาสเกิดภาวะตาเหล่ออกร่วมกับตาหมุนได้ หากต้องการความสวยงามอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้ง

วิธีป้องกันอาการตาเหล่ ตาเข

ภาวะตาเหล่ ตาเข เกิดขึ้นได้หากใช้สายตามากเกินไปจนทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หรือตึงจนเกิดความผิดปกติของดวงตา สามารถป้องกันได้ด้วยการงดเว้นกิจกรรมที่ต้องใช้ดวงตาเพ่งเล็งมากจนเกินไป ควรพักสายตา และปรับระยะเวลาการมองเห็น เพื่อไม่ให้เกิดอาการตาเหล่ สำหรับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ควรงดการสูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์และหลีกเลี่ยงการคลอดก่อนกำหนดจะเป็นวิธีการป้องกันเด็กตาเหล่ที่ดีที่สุด


คำถามที่พบบ่อย

ทําตาเหล่บ่อยๆ จะเป็นอะไรไหม

ตอบ โรคตาเหล่ ตาเขมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อตาทำงานไม่ประสานกัน กรณีที่คนปกติ มีกล้ามเนื้อดวงตาที่ทำงานประสานกันปกติ การแกล้งทำตาเหล่นั้นไม่ได้ส่งผลให้เกิดโรคตาเหล่ขึ้น

ตาเหล่ ใส่คอนแทคเลนส์ได้ไหม

ตอบ ผู้ป่วยตาเหล่ที่มีอาการของโรคไม่รุนแรงสามารถใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษที่ช่วยเรื่องการหักเหแสง ทำให้มองภาพได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคอนแทคเลนส์ไม่ช่วยเรื่องการรักษาอาการตาเหล่ได้


ข้อสรุป

โรคตาเหล่ ตาเขเป็นโรคที่สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิดและเป็นในภายหลัง สาเหตุของการเกิดโรคตาเหล่ ตาเขนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคทางภาย หรืออุบัติเหตุ แต่ในผู้ป่วยส่วนมากมักจะเป็นประเภทไม่ทราบสาเหตุ 

อย่างไรก็ตามหากเกิดโรคตาเหล่ ตาเขในเด็กอาจส่งผลให้เกิดโรคตาขี้เกียจจนนำไปสู่ตาบอดในที่สุดได้ ดังนั้นหากพบความผิดปกติอย่างตาดำสองข้างไม่เท่ากัน สงสัยว่าอาจเป็นโรคตาเหล่ ควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจ วินิจฉัย และวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องเพื่อให้ดวงตาสามารถใช้งานได้อย่างปกติและยังช่วยให้มีบุคลิคภาพที่ดีขึ้นได้อีกด้วย