โรควิตกกังวลปัญหาเร่งด่วน ที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

อาการวิตกกังวลกลัวในสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์เราทุกคนที่ยังคงมีอารมณ์ โดยเฉพาะสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา และเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาด, การเมือง, น้ำท่วม และเร็ว ๆ นี้ คือ แผ่นดินไหวใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น สิ่งเลวร้ายเหล่านี้ต่างเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรควิตกกังวลได้
โรควิตกกังวล เป็นอาการที่เกี่ยวกับความผิดปกติของสภาพจิตใจที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสุขภาพกาย ดังนั้นเราจึงควรสังเกต และใส่ใจอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ดูแลสภาพจิตใจได้อย่างเหมาะสม เราจะมาศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้
โรควิตกกังวล คืออะไร มีกี่ประเภทอะไรบ้าง
โรควิตกกังวล (Anxiety disorder) คือ โรคจิตประเภทหนึ่งซึ่งมีอยู่หลายประเภทหลายระดับ และเป็นโรคที่มีอาการรุนแรงมากกว่าอาการวิตกกังกลที่เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะว่าอาการวิตกกังวลเป็นเรื่องปกติมากในสถานการณ์ตึงเครียด เช่น การพูดในที่สาธารณะ หรือ การสอบ เป็นความรู้สึกที่แสดงถึงการเตรียมความพร้อมในการเผชิญปัญหา หรือสถานการณ์นั้น ๆ
โรควิตกกังวลซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นจากพันธุกรรม สถานการณ์รอบตัว หรือความเครียดที่เกิดจากการเรียน การทำงานเป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่องกว่า 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ใส่ใจดูแลรักษา โรควิตกกังวลก็จะเป็นอันตรายต่อสภาพจิตใจมาก
โรควิตกกังวลสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
- โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder – GAD) : ผู้ป่วยจะมีอาการเครียดวิตกกังวลมากเกินไปโดยไม่มีสาเหตุหรือมีเพียงเล็กน้อยก็ตาม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ไม่ค่อยอันตราย แต่ค่อนข้างมีผลต่อร่างกายที่เกิดความอ่อนเพลียจากการพักผ่อนน้อย
- โรคแพนิค (Panic Disorder – PD) : ผู้ป่วยมีอาการเหมือนเป็นโรคหัวใจจากอาการวิตกกังวลกลัวอย่างมากอยู่หลายนาทีก่อนจะค่อย ๆ ดีขึ้น มีทั้งอาการทางกาย เช่น ใจสั่น เหงื่อแตก คลื่นไส้ ตัวสั่น มือเท้าเย็นและชา ฯลฯ และมีอาการทางความคิดจิตใจ เช่น กลัวเกิดเรื่องร้ายแรง หรือ กลัวตาย เป็นต้น
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder – OCD) : เป็นโรคขี้กังวลที่ผู้ป่วยรู้สึกนึกคิดหรือกลัวอย่างไม่มีเหตุผลจนทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ จนกว่าจะมั่นใจ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มคนทำงาน เช่น กลัวลืมปิดไฟ ปิดแก๊สก่อนออกจากบ้านจนต้องกลับไปตรวจใหม่อีกรอบ การกระทำเหล่านี้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias) : เป็นอาการวิตกกังวลกลัวอย่างรุนแรงที่ผู้ป่วยรู้สึกต่อสิ่งของ สถานที่ หรือสถานการณ์เฉพาะ เช่น กลัวความสูง กลัวการเข้าสังคม กลัวห้องมืด กลัวสัตว์บางชนิด เป็นความกลัวที่ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
- โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder – PTSD) : เป็นโรควิตกกังวลที่เกิดหลังจากได้ผ่านเหตุการณ์เลวร้าย จะฝันเห็นบ่อย ๆ หรือคิดถึงซ้ำ ๆ ด้วยกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นอีก สร้างความเครียดให้แก่จิตใจอย่างรุนแรงกระทบต่อหน้าที่การงาน การใช้ชีวิตประจำวัน จนอาจหาทางออกด้วยการพึ่งสารเสพติด หรือ ฆ่าตัวตาย เป็นต้น
โรควิตกกังวล สาเหตุมาจากอะไรบ้าง

สาเหตุของโรควิตกกังวลอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้
- มีความผิดปกติของการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ มีสารเคมีในสมองไม่สมดุล
- เป็นกรรมพันธุ์ เป็นโรควิตกกังวลที่อาจได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก
- เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น วิธีการเลี้ยงดูในครอบครัว หรือ เลียนแบบพฤติกรรมพ่อแม่ คนใกล้ชิด เพื่อนฝูง
- เกิดจากเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต เช่น ภาวะเฉียดตาย การสูญเสียคนในครอบครัว สงคราม การฆาตกรรม
- เกิดจากความเครียดสะสม จึงส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม
- เกิดจากปัจจัยเฉพาะอื่น ๆ เช่น
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน
- สูบบุหรี่
- ใช้สารเสพติด
- มีปัญหาสุขภาพ บาดเจ็บ หรือป่วยเป็นโรคร้ายแรง
อาการของโรควิตกกังวลที่พึงระวัง

ประเภทของโรควิตกกังวลมีผลต่อการแสดงออกของอาการโรควิตกกังวล แต่เราพอจะบรรยายอาการทางกายและทางใจที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปได้ ดังต่อไปนี้
- มีอาการวิตกกังวลกลัว ตื่นตระหนก ไม่สบายใจ ที่ไม่สามารถควบคุมได้
- มีปัญหาเรื่องการนอนหลับไม่สนิท นอนหลับยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ
- มือและเท้าเย็น เหงื่อแตก เหงื่อออกมากผิดปกติ
- อาการเหน็บชาที่มือ และเท้า
- อาการวิตกกังวลเครียด กระสับกระส่าย กระวนกระวาย อ่อนเพลีย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ
- มีอาการอ่อนล้า เหนื่อยง่าย
- คลื่นไส้ ท้องไส้แปรปรวน ท้องเสีย
- กล้ามเนื้อตึง ปวดเมื่อย
- ปากแห้ง
- มือสั่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก
- มีปัญหาด้านการตัดสินใจ เช่น ตัดสินใจยาก ไม่กล้าตัดสินใจ เป็นต้น
ระดับความวิตกกังวลมีทั้งควบคุมได้และไม่ได้
โรควิตกกังวลของบุคคลมีระดับความรุนแรงอยู่ 4 ระดับ ดังต่อไปนี้
- ระดับต่ำ (Mild Anxiety) : เป็นระดับที่เกิดขึ้นได้ในตัวของทุกคน เช่น ความตึงเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวัน การแก้ปัญหาต่าง ๆ ทำให้ร่างกายและประสาทต่าง ๆ ถูกกระตุ้นแต่ไม่มากเกินไป ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
- ระดับปานกลาง (Moderate Anxiety) : มีผลต่อทั้งระบบประสาทสัมผัสและรับรู้ ความสามารถลดลง มีอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปั่นป่วนกระเพาะอาหาร ฯลฯ แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถรักษาโรควิตกกังวลด้วยตัวเองได้อยู่
- ระดับรุนแรง (Severe Anxiety) : เป็นระดับที่หมกมุ่นกับรายละเอียดจนจับสาระสำคัญไม่ได้ ไม่มีประสิทธิภาพ มีพฤติกรรมสับสนและปกป้องตนเองมากเกินไป หงุดหงิด โมโหง่าย ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ ต่อต้าน ตื่นกลัว มีอาการวิตกกังวลรุนแรง และอยู่ในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น
- ระดับรุนแรงมาก (Panic Anxiety) : เป็นระดับของความกลัวที่รุนแรงสุดขีด จนขาดสติ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เช่น กรีดร้อง แน่นิ่งหมดสติ สูญเสียความเป็นตัวเองและไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
การวินิจฉัยโรควิตกกังวลจำเป็นและสำคัญ
เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นอาการวิตกกังวลกลัวทั่วไปหรือเป็นโรควิตกกังวล เราควรไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจสอบอาการเบื้องต้นก่อน เพื่อจะได้ทำการรักษาได้ถูกต้อง แพทย์จะได้ทำการสอบถามเกี่ยวกับ
- อาการทางร่างกาย เช่น การใช้ชีวิตส่วนตัว มีอาการเบื้องต้นอะไรบ้าง ทางกาย ทางจิตใจ อารมณ์ ประวัติโรคประจำตัว การใช้สารเสพติดและยาอื่น ๆ เพื่อทำการแยกโรคอื่นที่มีลักษณะคล้ายกับโรควิตกกังวล
- เมื่อไม่พบโรคทางกาย ก็จะเริ่มประเมินภาวะทางจิตว่ามีปัญหาในการปรับตัวทางอารมณ์ที่ผิดปกติหรือไม่
เมื่อได้ข้อมูลครบแล้วก็จะมีการวินิจฉัยตามอาการที่ผู้ป่วยมีว่าตรงกับโรควิตกกังวลประเภทไหน เพื่อจะได้ทำการรักษาต่อไป
โรควิตกกังวลรักษาหายไหม ? มีวิธีใดบ้าง

โรควิตกกังวลสามารถรักษาให้หายได้แต่ควรเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาหลังจากที่ได้ทำการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลประเภทไหน ส่วนใหญ่วิธีที่ใช้รักษาโรควิตกังวลมีอยู่ 3 วิธีหลัก ๆ คือ
- รักษาด้วยยาซึ่งเป็นวิธีบรรเทาอาการ และช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมอง และลดอาการ anxiety
- ยารักษาอาการซึมเศร้า เช่น ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRI)
- ยาระงับอาการเครียดวิตกกังวล เช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine : BZD)
- ยาเบต้า บล็อกเกอร์ที่ช่วยควบคุมอาการทางร่างกายยามที่มีความกังวล เช่น ใจสั่น มือสั่น
- ยาระงับอาการทางจิต
- ยารักษาโรคลมชัก
- ควรปรึกษาแพทย์หรือใช้บริการปรึกษาหมอออนไลน์ก่อนใช้ยา
- รักษาด้วยจิตบำบัด (Psychotherapy) โดยรับคำแนะนำและคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเพื่อจัดการกับความเครียด ด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น
- ฝึกทำสมาธิ ฝึกการจินตนาการ
- ฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- ฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย
- ฝึกการหายใจ
- รักษาด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy : CBT) ด้วยการทำความเข้าใจในความรู้สึกที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หากิจกรรมอื่นให้ทำเพื่อสร้างความสบายใจ นั่งสมาธิเพื่อผ่อนคลายจิตใจ
นอกจากวิธีรักษาที่กล่าวข้างต้นนี้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือการป้องกันและช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นด้วยการหมั่นสังเกตตนเองพร้อมถามคนรอบข้างหากรู้สึกเครียดมากเกินไป พยายามปรับตัว ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการร่วมกิจกรรมที่ชอบ หาเวลาออกกำลังกายระบายความเครียด ความฟุ้งซ่าน พยายามทำความเข้าใจตนเอง ฝึกสมาธิ ฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบัน
สรุปเกี่ยวกับโรควิตกกังวล
เนื่องจากโรควิตกกังวลทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลงโดยเริ่มจากสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคงกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งการเรียน การทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง จนแม้แต่สุขภาพกายก็มีปัญหาจากโรคซึมเศร้า ความเจ็บป่วยทางร่างกาย ฯลฯ
ดังนั้นหากพบว่ามีสัญญาณหรืออาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรควิตกกังวล อย่าเพิกเฉย ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือหาวิธีแก้ไขและรักษาต่อไป ก่อนที่โรคนี้จะส่งผลกระทบในอนาคต