ผื่นแดงโควิด คันไหม? เกี่ยวข้องอย่างไรกับการติดเชื้อโคโรนาไวรัส?

เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะรู้ถึงความน่ากลัวของเชื้อโคโรนาไวรัสมากันมาบ้าง เชื้อโคโรนาไวรัสเป็นเชื้อไวรัสที่สร้างความเสียหายให้กับระบบทางเดินหายใจ แถมยังสามารถแพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว 

แต่ความน่ากลัวของโรคโควิด-19 ไม่จบแต่เพียงเท่านั้น เพราะเชื้อโคโรนาไวรัสทำอันตราย สร้างความเสียหายต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกายด้วย หนึ่งในอาการที่อาจพบในผู้ป่วยโรคโควิด-19 คืออาการผิดปกติทางผิวหนัง หรือผื่นแดงโควิดนั่นเอง

จากการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโรคโควิด-19 พบว่าผู้ที่มีอาการผื่นแดงโควิดมีประมาณ 0.2-20% เลยทีเดียว จนสามารถเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเวลาสังเกตว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่

ในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผื่นแดงโควิดที่หลาย ๆ คนอาจสงสัย ผื่นโควิดเป็นแบบไหน ลักษณะผื่นโควิดเป็นอย่างไร ผื่นโควิดคันไหม? สามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้เลย


รู้จักผื่นโควิด (Covid Rash)

Covid Rash หรือผื่นแดงโควิด คือความผิดปกติทางผิวหนัง เป็นหนึ่งในอาการที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคโควิด ที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha) หรือสายพันธุ์ B.1.1.7 โดยพบการระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ และมีการแพร่ระบาดมากในแถบยุโรป

ความผิดปกติทางผิวหนังหรืออาการผื่นแดงโควิดที่พบในฝั่งยุโรปและฝั่งเอเชียมีความแตกต่างกัน โดยในประเทศฝั่งยุโรปจะมีอาการปลายมือปลายเท้าม่วงคล้ำ อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ในทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า Covid Toe และในประเทศฝั่งเอเชียจะพบอาการคล้ายผื่นลมพิษ หรือเป็นตุ่มแดงทั้งตัว หรือเป็นตุ่มน้ำที่ผิวหนัง 

จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคโควิด-19 นำมาคำนวนทางสถิติ พบว่าผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอาการผื่นแดงโควิด คิดเป็น 0.2-20% โดยลักษณะผื่นโควิดของผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกัน เช่น ผื่นลมพิษ ผื่นแดงคล้ายตาข่ายหรือเส้ยใยเล็ก ๆ ผื่นคล้ายจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง ผื่นตุ่มใส เป็นต้น

โดยอาการของผื่นแดงโควิดสามารถเกิดได้ระหว่างติดเชื้อ หรือในบางรายอาจเกิดหลังจากติดเชื้อและรักษาหายไปแล้วที่เรียกว่าลองโควิด (Long covid) นั่นเอง 

ผื่นแดงโควิดสามารถหายได้เองหลังรักษาโรคโควิด-19 จนหายแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณและความรุนแรงของผื่นแดงโควิดที่ขึ้นตามร่างกายผู้ป่วยอีกด้วย


ผื่นแดงโควิดเกิดจากสาเหตุใด

อาการมีผื่นตามผิวหนังเป็นอาการของ covid-19 สายพันธุ์ใด

ถึงจะพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการผื่นแดงโควิดมากถึงประมาณ 0.2-20% แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่ทราบบสาเหตุที่เกี่ยวข้องระหว่างเชื้อโคโรนาไวรัสกับระบบผิวหนังอย่างชัดเจน  แต่มีการสันนิษฐานไว้ว่าผื่นแดงโควิดแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผื่นแดง ตุ่มใส ตุ่มแบน จุดคล้ายเลือดออกใต้ผิวหนัง อาจเป็นผลข้างเคียงระกว่างการใช้ยาที่รักษาโควิด-19 หรืออาจมาจากการที่เชื้อโคโรนาไวรัสส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี และเกิดเป็นลักษณะผื่นโควิดขึ้น


ผื่นโควิด มักพบในใครบ้าง

อาการผื่นแดงโควิดสามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ประมาณ 0.2-20% ในผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอาการผื่นแดงโควิดหลังอาการของโรคคิดเป็น 55% ของผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอาการผื่นแดงโควิด และผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอาการผื่นแดงโควิดพร้อมกับอาการอื่น ๆ ของโรคร่วมด้วยคิดเป็น 35% ของผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอาการผื่นแดงโควิด

อาการผื่นแดงโควิดสามารถพบได้ในผู้ป่วยหลายกลุ่ม ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ
  • ผู้ป่วยโรคโควิดที่มีระดับความรุนแรงของโรคเล็กน้อยจนไปถึงระดับรุนแรง
  • ผู้ป่วยทุกช่วงอายุ แต่มักพบในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นสูงกว่าผู้สูงอายุ

ทางกรมควมคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผื่นแดงโควิดไว้ว่า อาการผื่นแดงโควิดมักพบในผู้ป่วยวัยรุ่นที่มีอาการของโรคเล็กน้อยจนไปถึงระดับปานกลาง เช่น ตาแดง มีน้ำมูก ไม่มีไข้ และมีอาการผื่นแดงโควิดร่วมด้วย 

อาการผื่นโควิดจะไม่มาเป็นอาการเดี่ยว โดยผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่พบผื่นแดงโควิดมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก มีน้ำมูก มีไข้ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เป็นต้น หากพบผื่นแดงตามร่างกายประกอบกับหนึ่งในอาการโควิดอื่น ๆ นั่นหมายความว่าผู้ป่วยอาจติดเชื้อโควิด-19 แล้ว

นอกจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่กำลังติดเชื้อและรักษาที่มีโอกาสเกิดผื่นแดงโควิดแล้ว ในผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อและรักษาหายไปแล้วก็สามารถเกิดผื่นแดงโควิดได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิด (Long COVID) เช่นกัน และในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะ MIS-C ที่เกิดจากการอักเสบของระบบภายในร่างกายก็สามารถเกิดผื่นแดงโควิดได้เช่นกัน


เช็ค 8 ลักษณะผื่น เข้าข่ายอาการโควิด

ผื่นโควิดเป็นอย่างไร

ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสจะต้องมีอาการผื่นแดงโควิด และไม่ใช่ว่าผู้ที่มีอาการผื่นขึ้นตามตัวจะเป็นผู้ป่วยโรคโควิดทั้งหมด แล้วผื่นโควิดเป็นแบบไหน ผื่นโควิดขึ้นตรงไหน ผื่นโควิดคันไหม มีวิธีสังเกตอย่างไรว่าผื่นที่ขึ้นนี้เป็นผื่นแดงโควิดจริงหรือไม่ มาหาคำตอบได้ในหัวข้อนี้เลย

1. ผื่นโควิดที่นิ้วเท้า (Covid Toe)

ผื่นโควิดที่นิ้วเท้า หรือ Covid Toe เป็นผื่นโควิดที่พบได้ในคนผิวขาวมากกว่าคนผิวสี และมักพบในประเทศฝั่งยุโรป ในเด็กและคนอายุน้อยจะพบผื่นโควิดที่นิ้วเท้าได้มากกว่าผู้สูงอายุ และจะพบได้ในผู้ป่วยโรคโควิดที่มีระดับความรุนแรงของโรคน้อยถึงปานกลาง ลักษณะผื่นโควิดที่นิ้วเท้าจะเป็นตุ่มนูนสีแดง สีม่วง และมักมีอาการเจ็บหรือคันร่วมด้วย

2. ผื่นโควิดบริเวณคอและหน้าอก

ผื่นโควิดบริเวณที่คอและหน้าอกมีลักษณะเป็นผื่นแดงหรือชมพู สำหรับผู้ป่วยที่ผิวสองสีนั้นอาจมีลักษณะผื่นสีน้ำตาลเข้ม ม่วง หรือเทาได้ สามารถเกิดผื่นโควิดประเภทนี้ได้ระหว่างการติดเชื้อและหลังจากการติดเชื้อไปแล้ว และมักใช้ระยะเวลาหายจากผื่นโควิดชนิดนี้นานกว่าผื่นชนิดอื่น

3. ผื่นลักษณะคล้ายจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง

ผื่นโควิดที่มีลักษณธคล้ายจุดเลือดออกใต้ผิวหนังมักเกิดจากอาการอักเสบของเส้นเลือด และพบบ่อยได้บริเวณขา ผื่นแดงโควิดลักษณะนี้พบได้ในผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอาการของโรคระดับรุนแรงถึงประมาณ 6-8% และพบได้ในผู้สูงอายุ ในผู้ชายมากกว่า และใช้เวลาจางหายของผื่นลักษณะนี้ค่อนข้งนานเป็นสัปดาห์เลยทีเดียว

4. ผื่นแดงและตุ่มน้ำตามผิวหนัง

ผื่นแดงโควิดมักพบในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยมีลักษณะเป็นผดเล็ก ๆ สำหรับผื่นแดงอาจกดแข็ง นูนขึ้นเล็กน้อย และสำหรับตุ่มน้ำใสจะเป็นตุ่มที่ภายในมีของเหลวอยู่ ผื่นประเภทนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย แต่มักจะพบได้ตามข้อศอก เข่า แขน ขา ผื่นแดงจะมีอาการคันที่รุนแรง และในผื่นตุ่มน้ำใสจะมีอาการคันเล็กน้อย 

5. ผื่นและตุ่มใสขึ้นที่ปาก

ผื่นและตุ่มใสที่ปาก หรือตุ่มใสในปาก โควิดมีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ใส ๆ ภายในปากหรือบริเวณริมฝีปาก ผื่นลักษณะนี้เมื่อรักษาจนหายแล้วมักจะส่งผลให้ริมฝีปากแห้ง ปากลอก

6. ผื่นลมพิษ

ผื่นลมพิษกับผืนลมพิษโควิดมีลักษณะโดยรวมนั้นไม่แตกต่างกัน มักขึ้นบริเวณตามลำตัว แขน ขา และเกิดขึ้นได้ทั้งช่วงก่อนติดเชื้อระหว่างติดเชื้อและหลังติดเชื้อโควิด-19 ก็ได้ 

การแยกผื่นลมพิษปกติกับผื่นลมพิษโควิดหากอาศัยแค่การขึ้นผื่นบนผิวหนังนั้นอาจทำได้ยาก สำหรับผื่นลมพิษที่เกิดจากเชื้อโควิด-19 อาจต้องอาศัยการสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย

7. ผื่นกลีบกุหลาบ ร่างแห

ผื่นกลีบกุหลาบเป็นอีกลักษณะหนึ่งของผื่นโควิด โดยเกิดจากการไหลเวียนของเลือดที่ช้ากว่าปกติ จนเกิดเป็นผื่นคล้ายร่างแหบนผิวหนัง พบได้ในผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอาการรุนแรงปานกลาง ผื่นชนิดนี้พบได้น้อยในผู้ป่วยโรคโควิด-19

8. ไข้ออกผื่น

ไข้ออกผื่นเป็นอาการหนึ่งที่พบได้ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดหัว อ่อนเพลียร่วมด้วย มีลักษณะเป็นผดขึ้นทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่ไม่ก่ออาการคันแต่ก็มีบางส่วนที่อาจเกิดอาการคันได้เช่นกัน


ผื่นโควิดมีอาการอย่างไร

ผื่นโควิดมีอาการอย่างไร

1. สีผิวเปลี่ยนแปลง

ผื่นแดงโควิดที่ขึนตามผิวหนังมักจะมีสีชมพู แดง ม่วงไปจนถึงเทา ขึ้นกับลักษณะผื่นโควิดที่ขึ้นและลักษณะสีผิวเดิมของผู้ป่วยโรคโควิด-19 หากผู้ป่วยผิวขาวก็อาจทำให้เห็นสีผื่นแดงชัดกว่าสีผิวอื่น ๆ หรือหากผู้ป่วยผิวสองสี สีของผื่นที่ขึ้นอาจมีสีน้ำตาลเข้มขึ้น เป็นต้น

2. มีลักษณะบวมแดง

ผื่นโควิดที่มีอาการบวมแดงมักเป็นลักษณะของผื่นโควิดที่เท้า (Covid Toe) มักจะเป็นจุดแดง ม่วงคล้ำ บวมนูนบริเวณนิ้ว หรือนิ้วเท้า และอาการบวมแดงสามารถพบได้ในผื่นลมพิษที่มักขึ้นบริเวณตามลำตัวและแขนขา

3. มีอาการคัน ระคายเคือง

ผื่นโควิดบางชนิดอาจมีอาการคันร่วมด้วย ระดับความรุนแรงของอาการคันขึ้นกับลักษณะผื่นโควิดและขึ้นกับบุคคล โดยผื่นที่มักมีอาการคันร่วมด้วยได้แก่ ผื่นโควิดที่นิ้วเท้า (Covid Toe) ผื่นบริเวณปาก ผื่นแดงและผื่นตุ่มใสตามผิวหนัง

4. บางรายอาจเกิดตุ่มน้ำ

ผื่นโควิดบางชนิดมีลักษณะตุ่มน้ำใส เป็นตุ่มที่มีของเหลวอยู่ภายใน อาจมีอาการคันร่วมด้วยเล็กน้อย และไม่รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส 

5. เกิดผื่นขึ้นแบบฉับพลัน

ผื่นแดงโควิดและผื่นลมพิษอื่น ๆ สามารถเกิดขื่นตามร่างกายแบบฉับพลัน ดังนั้นหากเกิดอาการผื่นขึ้นแบบฉับพลัน มีอาการโรคโควิดอื่น ๆ ร่วมด้วย นั้นหมายถึงอาจติดเชื้อโควิด-19 ก็เป็นไปได้

แต่อย่างไรก็ตามสำหรับอาการผื่นขึ้นแบบฉับพลันอาจไม่ได้เป็นโรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียว อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานหลังจากสัมผัสกับสิ่งหรือสารก่อภูมิแพ้ได้เช่นกัน

6. มักเกิดร่วมกับอาการอื่นของโรคโควิด

อาการผื่นแดงโควิดมักจะพ่วงอาการอื่น ๆ ของโรคโควิด-19 มาด้วยไม่ว่าจะเป็นอาการไข้สูง หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย จมูกไม่ได้กลิ่นลิ้นไม่รับรส ขึ้นกับแต่ละบุคคล


อาการอื่นที่มักเกิดร่วมกับผื่นแดงโควิด

ผื่นแดงโควิดและอาการโรคโควิดอื่น ๆ

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในแต่ละคนนั้นมีการแสดงอาการของโรคที่แตกต่างกัน แต่สำหรับอาการผื่นแดงโควิดนั้นมักจะมาพร้อมกับอาการอื่น ๆ ของโรคโควิดด้วย ดังนี้

ไข้ขึ้นสูง

ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มักจะมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป และไข้จะสูงยาวติดต่อกันนานกว่า 42 ชั่วโมง 

อาการทางระบบทางเดินหายใจ

เชื้อโคโรนาไวรัสเป็นเชื้อไวรัสที่สร้างความเสียหายให้กับระบบทางเดินหายใจโดยตรง ดังนั้นในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการผื่นแดงโควิด มักจะมีอาการทางระบบหายใจที่ผิดปกติร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก หายใจได้ไม่เต็มปอด ไอเรื้อรัง เป็นต้น

อาการทางร่างกายอื่นๆ

เชื้อโคโรนาไวรัสไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับระบบทางเดินหายใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังสามารถทำให้ระบบอื่น ๆ ภายในร่างกายเกิดความผิดปกติ จนเกิดอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก จมูกไม่ได้กลิ่นลิ้นไม่รับรส ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อยตามตัว ท้องเสีย หน้ามืดวิงเวียนศีรษะ เป็นต้น 


เปรียบเทียบผื่นแดงโควิดกับผื่นภูมิแพ้

ผื่นแดงโควิดและผื่นภูมิแพ้มีลักษณะที่คล้ายกัน ทำให้อาจแยกลักษณะของผื่นที่ขึ้นว่าเป้นผื่นแดงโควิดหรือไม่ได้ยาก โดยลักษณะที่แตกต่างของผื่นทั้งสองชนิดมีดังนี้

อาการผื่นแดงโควิด

ผื่นแดงโควิดมีรูปแบบลักษณะของผื่นที่แตกต่างกันไปขึ้นกับแต่ละคน ในบางรายอาจเป็นผื่นคล้ายลมพิษ บางรายอาจมีตุ่มน้ำใสร่วมกันผดแดงเล็ก ๆ บางรายอาจมีลักษณะผื่นคล้ายตาข่าย เส้นใยเล็ก ๆ 

โดยลักษณะของผื่นเหล่านี้มีความคล้ายกับผื่นของโรคผิวหนังอื่น ๆ ไม่มีลักษณะของผื่นที่จำเพาะเจาะจงได้ว่าผื่นแบบนี้คือโควิด

แต่อย่างไรก็ตามสามารถแยกได้ว่าผื่นที่ขึ้นเกิดจากการติดเชื้อโควิดหรือไม่จากการสังเกตถึงอาการร่วมโรคโควิดอื่น ๆ เช่น ไข้ขึ้นสูง หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย เป็นต้น

อาการผื่นภูมิแพ้

ผื่นภูมิแพ้เป็นอาการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสิ่งหรือสารก่อภูมิแพ้ มีลักษณะเป็นผื่นแดง อาจมีอาการคันร่วมด้วย และผื่นภูมิแพ้จะไม่มีอาการร่วมจากอาการของโรคโควิด แต่อาจมีอาการร่วมอื่น ๆ ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้


ผื่นโควิดรักษาอย่างไร

ผื่นโควิดที่เกิดจากโรคโควิดมักจะหายไปเองได้หลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ และเป็นกลุ่มอาการที่ไม่รุนแรง ไม่เป็นอันตรายกับร่างกายถึงขั้นชีวิต แต่ก็สามารถสร้างความรำคาญได้ 

การรักษาผื่นโควิดที่จำเพาะเจาะจงยังไม่มีวิธีรักษาอย่างเป็นทางการ แต่หากมีอาการคันรุนแรง หรือผื่นขึ้นตามตัวปริมาณมาก แพทย์มักจะจ่ายยารักษาตามอาการ เพื่อบรรเทาอาการลงได้

สำหรับยาที่ใช้รักษาอาการผื่นแดงโควิดตามอาการมีดังนี้

  • ยาแก้แพ้ แก้คัน ยาต้านฮีสตามีน เพื่อลดอาการคันที่บริเวณผิวหนัง
  • ยากลุ่มสเตียรอยด์ชนิดทา เพื่อลดอาการแพ้และคัน
  • Calamine lotion ลดอาการคันจากผื่นแดง ผื่นลมพิษ

นอกจากการใช้ยาแล้วผู้ป่วยที่มีอาการผื่นแดงโควิดควรหลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกาบริเวณที่เกิดผื่นโควิด เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง และผื่นอาจเกิดการลามไปจุดอื่น ๆ มากขึ้น และควรงดการใช้ครีม โลชั่น สกินแคร์กับผิวหนังไปก่อนจนกว่าผื่นจะหายไป เพราะสารเคมีในครีมบำรุงเหล่านี้อาจไปกระตุ้นให้อาการของผื่นโควิดเป็นหนักกว่าเดิม


ข้อสรุป

อาการผื่นแดงโควิด เป็นอาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha) โดยเป็นอาการผิดปกติทางผิวหนังที่ในปัจจุบันยังไม่ทราบความเกี่ยวข้องระหว่างการติดเชื้อกับระบบผิวหนังที่ชัดเจน โดยลักษณะของผื่นแดงโควิดนั้นมีความแตกต่างกันขึ้นกับแต่ละบุคคล สามารถพบอาการผื่นแดงโควิดจากผู้ป่วยโควิดได้ประมาณ 0.2-20% 

โดยอาการผื่นแดงโควิดจะไม่แสดงอาการเดี่ยว ๆ แต่มักจะมีอาการอื่น ๆ ของโรคโควิด-19 ร่วมด้วยไม่ว่าจะไข้สูง หายใจลำบาก อ่อนเพลีย เป็นต้น ความรุนแรงของผื่นแดงโควิดค่อนข้างต่ำ และยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากผื่นแดงโควิด

แต่อย่างไรก็ตามผื่นแดงโควิดก็สามารถสร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วยได้เช่นกัน โดยปกติผื่นแดงโควิดสามารถจางหายได้เองหลังรักษาโรคโควิดจนหายแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากอาการผื่นโควิดรุนแรงแพทย์อาจจ่ายยารักษาบรรเทาอาการได้เช่นกัน