|

ข้อเข่าเสื่อม โรคใกล้ตัวของผู้สูงอายุ รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

เมื่อสิ่งใดที่ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานานก็มักจะมีการเสื่อมสภาพลงตามกาลเวลา กับร่างกายมนุษย์เองก็เช่นกัน ยิ่งอายุมากขึ้น อวัยวะที่เคยใช้งานได้เป็นอย่างดีกลับเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการใช้งานลดลง ไม่ว่าจะเป็นระบบภายในร่างกาย หรือกระทั่งอวัยวะภายนอกอย่างข้อเข่า ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สามารถทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด

ข้อเข่าที่ผ่านการใช้งานมานานก็สามารถเสื่อมลงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ โดยผู้สูงอายุจะรู้สึกถึงสัญญาณที่บ่งบอกว่าข้อเข่าเสื่อมสภาพลง เช่น อาการปวดเข่า จะลุกจะเดินลำบากขึ้น และหากไม่รักษาก็จะทำให้อาการเหล่านี้รุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

ในบทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับโรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากอะไร อาการใดที่บ่งบอกว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มีวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ จะป้องกันได้อย่างไร


โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) คืออะไร

ความแตกต่างของข้อเข่าปกติและข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยมาก ข้อเข่าเสื่อมคือโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกบริเวณเข่าอย่างกระดูกผิวข้อ โดยการเสื่อมของกระดูกผิวข้อเข่านั้นจะทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างกระดูกอ่อนที่ห่อหุ้มกระดูกต้นขากับหมอนรองกระดูกบนกระดูกหน้าแข้ง ก่อให้เกิดอาการปวดเข่า 

โดยกระดูกผิวข้อที่เสื่อมสภาพไปแล้วจะไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้อีกต่อไป และจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งผู้ป่วยไม่สามารถขยับข้อเข่าได้อีก


โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากอะไร

ก่อนจะไปดูว่าโรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากอะไรควรจะทราบถึงโครงสร้างและการทำงานของข้อเข่ากันก่อน

ปกติแล้วเพื่อให้สามารถเดิน หรือทำอิริยาบทต่าง ๆ ร่างกายจึงทำให้ช่วงต้นขามีกระดูกที่แบ่งออกเป็นสองท่อนใหญ่ ๆ คือกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง และตรงระหว่างกระดูกทั้งสองชนิดคือกระดูกอ่อนหุ้มกระดูกต้นขาและหมอนรองกระดูกที่อยู่บนกระดูกหน้าแข้ง แต่เพื่อให้ระหว่างกระดูกทั้งสองชนิดนี้ไม่เกิดการเสียดสีกันและสามารถขยับได้อย่างราบรื่น จึงมีกระดูกผิวข้อและน้ำไขข้อเป็นตัวหล่อลื่น

เมื่อใดก็ตามที่น้ำไขข้อลดน้อยลง หรือ/และกระดูกผิวข้อเสื่อมลง จะทำให้กระดูกอ่อนและหมอนรองกระดูกมาเจอกัน และเกิดการเสียดสีขึ้นนั่นเอง การเสียดสีนี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเวลาขยับข้อเข่า และหากการเสียดสีนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำลายกระดูกบริเวณเข่า จนไม่สามารถใช้งานได้เป็นปกติ

ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมคืออายุ เพราะอายุมากแสดงได้ถึงการผ่านการใช้งานของกระดูกผิวข้อมาอย่างยาวนาน การที่สิ่งใดผ่านการใข้งานมานานจะเกิดการเสื่อมสภาพลงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

แต่โรคข้อเข่าเสื่อมนอกจากจะเกิดจากการใช้งานอย่างยาวนานแล้ว ยังมีอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ดังนี้

  • เพศ : โรคข้อเข่าเสื่อมสามารถพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า อันเนื่องมาจากสภาพร่างกายและฮอร์โมน
  • น้ำหนัก : ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่า เนื่องจากบริเวณกระดูกข้อเข่าจะต้องรับน้ำหนักและได้รับแรงกดมาก
  • ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก : ผู้ที่มีกระดูกเปราะบาง กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกมักจะมีโอกาสเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายกว่า
  • พฤติกรรม : การใช้งานข้อเข่าไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งพับเพียบ การนั่งยอง ๆ การนั่งขัดสมาธิ การยกของหนัก ๆ พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดที่มากกว่าปกติ
  • การเล่นกีฬา : โดยเฉพาะกีฬาที่ใช้งานหัวเข่ามาก ๆ เช่น กีฬาที่ต้องกระโดดบ่อย ๆ อย่างบาสเกตบอล 
  • อุบัติเหตุ : หัวเข่าที่เคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน ทำให้ลักษณะข้อเข่าผิดปกติไป และเพิ่มโอกาสให้ข้อเข่าเสื่อมไวยิ่งขึ้น

จากปัจจัยที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่าจุดร่วมที่ทำให้เกิดการเสื่อมของข้อเข่าคือการใช้งานที่มากกว่าปกติหรือการที่ทำให้ข้อเข่าต้องรับภาระมากกว่าปกติ ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นตัวเร่งที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมไวขึ้น 


ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม ปวดเข่า

ข้อเข่าเสื่อมในผู้ที่อายุน้อย

  • ผู้ที่เคยได้รับการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า ทั้งจากการออกกำลังกายและอุบัติเหตุ 
  • ผู้ที่ใช้งานข้อเข่าอย่างหนักหรือใช้งานข้อเข่าไม่ถูกต้อง เช่น พฤติกรรมการนั่งอย่าง นั่งขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ หรือการกระโดด กระแทก การยกของหนัก ๆ บ่อย ๆ พฤติกรรมเหล่านี้จะเร่งให้ข้อเข่าเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ
  • ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่า เพราะกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่าจะช่วยซัพพอร์ตการกระแทกของกระดูกผิวข้อได้ การที่กล้ามเนื้อบริเวณนี้ไม่แข็งแรงทำให้กระดูกผิวข้อต้องทำงานหนัก เสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมง่ายกว่า
  • ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ เพราะข้อเข่าต้องรับแรงกดมากกว่าปกติ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งให้การเสื่อมของข้อเข่าเกิดเร็วขึ้นอย่างมาก
  • ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ไม่ได้รับสารอาหารที่สามารถไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ บำรุงกระดูก ทำให้โอกาสเกิดการเสื่อมได้มากกว่า

ข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ

โรคข้อเข่าเสื่อมมักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากกระดูกผิวข้อผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน ทำให้มีโอกาสเสื่อมมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย 


ข้อเข่าเสื่อมมีกี่ระยะ ควรพบแพทย์เมื่อไหร่

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถแบ่งได้อีก 3 ระดับตามความรุนแรงของโรค โดยแต่ละระยะมีรูปแบบความรุนแรงของอาการเสื่อมต่างกัน ดังนี้

ระยะข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมระยะแรก

ข้อเข่าเสื่อมระยะแรกนั้นจะมีน้ำไขข้อที่คอยทำหน้าที่หล่อลื่นกระดูกผิวข้อน้อยลง ทำให้กระดูกผิวข้อเสื่อม และทำให้กระดูกอ่อนต้นขาและหมอนรองกระดูกของกระดูกหน้าแข้งเกิดการเสียดสีเล็กน้อย ทำให้เกิดการสึกหรอของกระดูกบริเวณข้อเข่า 

อาการสึกหรอนี้ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดเข่าเฉพาะเมื่อเคลื่อนไหวข้อเข่า หรือการกระทำใดที่ทำให้ข้อเข่าเกิดการเสียดสี รับน้ำหนักและแรงกดมาก เช่น การเดินขึ้นลงบันได การเดินหรือการยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน การนั่งในท่าที่ทำให้ข้อเข่าผิดรูปหรือข้อเข่ารับแรงกดมาก เช่น นั่งพับเพียบ นั่งยอง ๆ นั่งขัดสมาธิ โดยอาการปวดเข่าของข้อเข่าเสื่อมระยะแรกจะไม่รุนแรงมาก และสามารถหายได้เมื่อพักการใช้งาน

ข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลาง

ข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลางจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากข้อเข่าเสื่อมระยะแรก คือการสึกหรอของกระดูกบริเวณข้อเข่ามากขึ้น ทำให้กระดูกอ่อนของกระดูกต้นขาและหมอนรองกระดูกของกระดูกหน้าแข้งเสียดสีกันหนักขึ้น ในระยะนี้อาจเกิดการอักเสบของน้ำไขข้อ ทำให้ข้อเข่าบวมหรือเกิดอาการร้อนแดงบริเวณเข่า

ข้อเข่าเสื่อมระยะนี้ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเข่ามากกว่าข้อเข่าเสื่อมระยะแรก เพียงแค่ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวเข่ามาก ๆ หรือกิจกรรมที่ทำให้ข้อเข่ารับแรงกดที่มากกว่าปกติ เช่น การยืน การเดิน ก็รู้สึกปวดเข่า และการเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งเป็นยืน จากยืนลงไปนั่ง ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บและทำให้เปลี่ยนอิริยาบถได้ยากกว่าเดิม

อาการปวดข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลางนี้ไม่สามารถหายได้ด้วยการใช้งาน ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดมากและต้องพึ่งการรับประทานยาลดอาการปวด จึงสามารถบรรเทาอาการปวดเข่าลงไปได้บ้าง

ข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง

ข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง เป็นอาการของระยะสุดท้ายของโรคข้อเข่าเสื่อม โดยการสึกหรอของกระดูกอ่อนของกระดูกต้นขาและหมอนรองกระดูกบนกระดูกหน้าแข้งรุนแรงมากจนแทบจะไม่เหลือแล้ว ทำให้กระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งชนและเสียดสีกันโดยตรง จนเกิดอาการข้อเข่าผิดรูป เช่น ขาโก่ง 

ข้อเข่าเสื่อมระยะสุดท้ายนี้ผู้ป่วยจะเจ็บปวดเข่ารุนแรง และไม่สามารถยืดเข่า งอเหยียดเข่าได้สุด หรือมีอาการข้อติดไม่สามารถยืด งอ เหยียดเข่าได้เลย ในบางรายอาจพบอาการอักเสบ เกิดเป็นอาการบวมน้ำที่ข้อเข่า ซึ่งข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรงไม่สามารถบรรเทาด้วยการพักใช้งานหรือการรับประทานยาได้อีกต่อไป


วิธีวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม

เมื่อมีอาการปวดข้อเข่า แพทย์จะมีวิธีหรือแนวทางในการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างไร?

  1. คัดกรองโรคเบื้องต้น

ผู้ป่วยสามารถทำแบบทดสอบคัดกรองโรคข้อเข่าเสื่อม เพื่อประเมินว่าอาการปวดเข่าของผู้ป่วยนั้นเกิดจากอาการเสื่อมของกระดูกผิวข้อจริงหรือไม่ หากผลการทดสอบบอกว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม แพทย์ก็จะส่งตรวจในขั้นต่อไป

  1. ตรวจวินิจฉัยข้อเข่า

การตรวจโรคข้อเข่าเสื่อมโดยแพทย์สามารถทำได้หลายวิธี โดยจะใช้วิธีใดในการตรวจขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ได้แก่

  • การเจาะเลือด : การตรวจเลือดสามารถบอกได้ว่าอาการปวดนี้เกิดจากข้อเข่าเสื่อมจริงหรือไม่ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หากเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะสามารถตรวจพบได้จากเลือด 
  • เอกซเรย์ : โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการสึกหรอของกระดูก การเอกซเรย์จะสามารถเห็นช่องว่างระหว่างกระดูก หรือโครงสร้างที่ผิดปกติของกระดูก เช่น กระดูกผิดรูป มีกระดูกงอก ขาโก่ง เป็นต้น
  • MRI : ในบางครั้งเพื่อแยกโรคข้ออื่น ๆ การตรวจด้วยการเอกซเรย์เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถเห็นได้ทั้งหมด การทำ MRI จะสามารถบอกรายละเอียดโครงสร้างของกระดูก กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อรอบ ๆ กระดูกได้
  1. Knee Scoring

แพทย์จะใช้ระบบคะแนนในการประเมินความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมว่าอยู่ในระยะใด


วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ไม่ต้องผ่าตัด

ข้อเข่าเสื่อม รักษาแบบไม่ผ่าตัด

ถึงแม้ว่าข้อเข่าเสื่อมไปแล้วจะไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาให้อยู่ในสภาพดีได้อีก แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเมื่อพบโรคข้อเข่าเสื่อมจะต้องเข้ารับการผ่าตัดทุกครั้ง ในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมไม่รุนแรงมากสามารถรักษาในรูปแบบการประคับประคองได้ ข้อเข่าเสื่อม รักษาได้หลายวิธี เช่น

การออกกำลังกาย บริหารข้อเข่า

สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมระยะแรก จะมีอาการสึกหรอของกระดูกผิวข้อยังไม่มากและยังพอทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ใกล้เคียงกับปกติ เพื่อให้กระดูกผิวข้อรับภาระน้อยลงและเป็นการชะลออาการเสื่อมของข้อเข่า ผู้ป่วยสามารถเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบหัวข้อด้วยการออกกำลังกาย 

เมื่อกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าแข็งแรงก็จะช่วยซัพพอร์ตข้อเข่า รับแรงกระแทกแทนกระดูกผิวข้อ ทำให้ลดอาการปวดที่เกิดจากการสึกหรอได้นั่นเอง

การรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยการใช้ยา

ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมระยะแรกจนถึงระยะปานกลาง จะพบอาการปวดเข่าเมื่อใช้งาน และหากการพักใช้งานแล้วยังไม่หายปวดผู้ป่วยสามารถรับประทานยา หรือทายาภายนอกเพื่อบรรเทาอาการปวดเข่าได้ โดยตัวยาที่แพทย์จะจ่ายให้ผู้ป่วยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการปวด ได้แก่

  • ยาทาเฉพาะที่ ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดไม่มากและไม่อยากรับประทานยาสามารถใช้ยาทาภายนอกบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบแทนได้
  • ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือ อะเซตามิโนเฟน สามารถลดอาการปวดเข่าระดับรุนแรงเล็กน้อยได้
  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal antiinflammatory หรือ NSAIDs) ตัวยาจะออกฤทธิ์มากกว่ายาแก้ปวด สามารถลดอาการปวดอักเสบที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง แต่ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก จึงควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

การทำกายภาพบำบัด

ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมระยะแรก ๆจนถึงระยะปานกลาง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดนอกจากการใช้ยา เนื่องจากการกายภาพบำบัดจะเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าให้แข็งแรงขึ้น มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม และกล้ามเนื้อที่แข็งแรงนี้จะไปทำหน้าที่ซัพพอร์ด ช่วยลดแรงกระแทกของกระดูกผิวข้อ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเข่าน้อยลง

การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดมีหลายรูปแบบ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า การใช้เลเซอร์ อัลตราซาวด์ คลื่นสั้น (Short wave) เป็นต้น

การรักษาแบบชีวภาพ (Biological Therapy)

วิธีรักษาแบบชีวภาพเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ โดยเป็นวิธีรักษาด้วยจุดประสงค์เพื่อลดการเสียดสีระหว่างกระดูก หลักการคล้ายกับการหยอดน้ำมันที่บานพับประตูนั่นเอง 

การรักษาแบบชีวภาพมี 2 แบบ คือ

  1. การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า

เพราะผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะมีการผลิตน้ำไขข้อน้อยกว่าปกติ ทำให้ข้อฝืด กระดูกเสียดสีจนเกิดอาการปวดเข่า ดังนั้นการฉีดน้ำไขข้อเทียมจะไปช่วยให้การเสียดสีระหว่างกระดูกลดลง อาการปวดเข่าของผู้ป่วยจึงดีขึ้น

การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียมนี้จะสามารถอยู่ได้ประมาณ 2-3 เดือน หลังจากนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องมาฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าใหม่ เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดเข่าระดับปานกลางจนถึงรุนแรง แต่ไม่พร้อมเข้าผ่าตัด

  1. การฉีด Platelet Rich Plasma (PRP)

PRP เป็นเกล็ดเลือดเข้มข้นที่สกัดจากเลือดของผู้ป่วยเอง โดยจะสามารถใช้รักษาอาการเสื่อมและอาการบาดเจ็บของข้อเข่า เอ็นและกล้ามเนื้อได้ดี 


รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัด

วิธีสุดท้ายในการรักษาข้อเข่าเสื่อม คือการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเสื่อมของข้อเข่าระยะรุนแรง ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้อีก เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้งานข้อเข่าได้อีกครั้ง แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม 

การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมยังมีอีกหลายวิธี โดยแต่ละวิธีมีความเหมาะสมแตกต่างกันไป ดังนี้

การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery)

การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมด้วยการส่องกล้องเป็นวิธีรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยรับภาระจากอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดค่อนข้างน้อย ฟื้นฟูได้เร็ว เพราะมีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก แพทย์จะทำการสอดกล้องและเครื่องมือเข้าไปในข้อเข่า จากนั้นจะทำการรักษาผ่านจอทีวี การผ่าตัดรูปแบบนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีหมอนรองข้อเข่าขาด เอ็นข้อเข่าขาด กระดูกอ่อนแตก เป็นต้น และยังสามารถจัดมุมกระดูกใหม่ ในผู้ป่วยที่มีข้อเข่าโก่งเล็กน้อย

แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัดส่องกล้องไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนข้อเข่าเทียมใหม่ เพราะอวัยวะที่ต้องนำออกมาและการใส่อวัยวะเทียมจำเป็นต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Arthroplasty)

ผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง กระดูกผิวข้อ หมอนรองกระดูก กระดูกอ่อนได้สึกหรอหายไปเกือบหมดแล้ว แพทย์จะให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าใหม่ โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ายังสามารถทำได้อีก 2 วิธี คือเปลี่ยนเฉพาะบางจุด หรือเปลี่ยนข้อเข่าใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะการเสื่อมของข้อเข่า

ผู้ป่วยที่เปลี่ยนข้อเข่าใหม่จะสามารถกลับมาใช้งานข้อเข่าได้อีกครั้งโดยไม่มีอาการปวดหรือหลงเหลืออาการปวดเข่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ข้อเข่าเทียมที่เปลี่ยนใหม่มีอายุการใช้งานประมาณ 10-20 ปี ขึ้นอยู่กับการใช้งาน หากผู้ป่วยยังคงพฤติกรรมเดิม ๆ ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเสือมของข้อ ก็จะทำให้ข้อที่เปลี่ยนใหม่มีอายุสั้นลง และต้องกลับมาเปลี่ยนข้อใหม่เร็วขึ้น

ดังนั้นเพื่อให้ข้อเข่าเทียมที่เปลี่ยนใหม่มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น ลดโอกาสการกลับมาเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจนต้องผ่าตัดซ้ำ ควรปฏิบัติตนด้วยหลักการเดียวกับการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม ดังหัวข้อถัดไป


แนวทางการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม

อาการข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่หากได้เป็นแล้วจะไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นสภาพเดิมได้อีก ดังนั้นจึงควรถนอมข้อเข่า หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่ามีอายุการใช้งานสั้นลง ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น เช่น
    • การขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ เกินความจำเป็น เพราะทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดมาก
    • การยก แบกของหนักบ่อย ๆ ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ
    • การนั่งด้วยท่าที่ทำให้ข้อเข่าได้รับแรงกดมาก ข้อเข่างอ บิด ผิดรูป เช่น การนั่งยอง ๆ การนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ เป็นต้น
    • การเล่นกีฬาที่มีโอกาสเสี่ยงทำให้ข้อเข่าเกิดการกระแทก
    • ออกกำลังกายมากเกินไป เกินขีดจำกัดของร่างกาย เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บและอุบัติเหตุง่าย
  • ฟื้นฟู เสริมสร้างกระดูก กล้ามเนื้อ และร่างกายเพื่อชะลออาการเสื่อม
    • รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงกระดูกและข้อ
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อรอบหัวเข่า
    • ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดภาระการรับน้ำหนักของข้อเข่า

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม รักษาด้วยตัวเองได้ไหม

โรคข้อเข่าเสื่อมคือการที่กระดูกผิวข้อเสื่อมสภาพลง เกิดการสึกหรอของบริเวณกระดูกข้อเข่าและการสึกหรอนี้ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมหรือฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้เอง ดังนั้นข้อเข่าเสื่อมจึงไม่สามารถรักษาให้หายด้วยตนเองได้

แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองเพื่อชะลออาการเสื่อมของข้อได้ เช่น การรับประทานที่บำรุงกระดูกและข้อ การออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบหัวเข่า เป็นต้น

อาหารช่วยบำรุงข้อเข่า มีอะไรบ้าง

ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปบำรุง ฟื้นฟู ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การที่มีกระดูกและข้อแข็งแรงก็จะลดโอกาสการเสื่อมของข้อได้มากขึ้น

อาหารช่วยบำรุงข้อเข่า ได้แก่ อาหารที่มีแคลเซียมสูง ช่วยบำรุงกระดูกและข้อให้แข็งแรง อาหารที่มีวิตามินดี เพราะจะช่วยให้การดูดซึมของแคลเซียมดีขึ้น อาหารที่มีโอเมก้า 3 ช่วยลดการอักเสบในข้อและบำรุงข้อได้ดี


ข้อสรุป

อวัยวะที่ต้องรับน้ำหนักและแรงกระแทกค่อนข้างมากคือข้อเข่า ยิ่งหากมีการใช้งานผิดประเภทหรืออุบัติเหตุที่ทำให้ข้อเข่าเกิดการบาดเจ็บ ผิดรูป ก็จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมมากยิ่งขึ้น และเมื่อเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมแล้วจะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้อีก ทำได้เพียงการประคับประคองไม่ให้เสื่อมเร็วขึ้น หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเท่านั้น

ดังนั้นจึงควรป้องกันและถนอมข้อเข่าให้ดี เพื่อยืดอายุการใช้งานข้อเข่าให้มากขึ้น เพราะอาการปวดเข่าจากข้อเข่าเสื่อมถึงแม้ว่าจะไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก