ออฟฟิศซินโดรม อาการปวดเรื้อรังของคนทำงาน
ทุกวันนี้การทำงานออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นตำเเหน่งไหนก็ต้องใช้ความคิด ใช้ไอเดียในการทำงาน และแก้ปัญหาที่ต้องเจอในแต่ละวัน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพที่สุด สภาพร่างกายต้องพร้อมที่สุดเช่นกัน ซึ่งออฟฟิศซินโดรมเป็นสิ่งที่บั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงานไม่มากก็น้อย เพื่อให้คนทำงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุข สื่งที่ต้องตระหนักเลย คือ ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร และอาการออฟฟิศซินโดรมเป็นอย่างไร และจะสามารถป้องกันได้อย่างไรบ้าง
ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร เกิดจากอะไร?
ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คือ โรคที่เกิดจากการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และทำในท่าทางที่ไม่เหมาะสม จนทำให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด อาการปวดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อและเอ็น รวมไปถึงอาการปวดหรือชาจากปลายประสาทที่ถูกกดทับ กลุ่มอาการเหล่านี้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรัง ก็จะเรียกกลุ่มอาการเหล่านี้ว่าเป็นออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรม มีสาเหตุจากการทำงานด้วยกิริยาท่าทางใดท่าทางหนึ่งอย่างไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน สร้างภาระต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ซึ่งมักพบได้ในกลุ่มคนที่ทำงานในออฟฟิศ โดยสาเหตุของ ออฟฟิศซินโดรมสามารถสรุปได้เป็นข้อๆ ดังนี้
- สภาพแวดล้อมในการทำงาน : ความสูงของโต๊ะ และเก้าอี้ที่ทำงาน ตำเเหน่งของหน้าจอคอมพิวเตอร์ เมาส์ หรือคีย์บอร์ด สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมในการนั่งทำงานของเรา ซึ่งหากจัดได้ไม่ดี ก็จะเป็นสาเหตุหลักๆให้เราเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้
- ท่าทางในขณะที่ทำงานอยู่ : ตั้งแต่การนั่ง การวางมือหรือข้อศอกบนโต๊ะที่ไม่ถูกต้อง
- การทำงานในระยะเวลานานๆ : นอกจากนั่งด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะกับร่างกายแล้วการใช้กล้ามเนื้อในจุดเดิมซ้ำๆ โดยไม่มีการยืดเส้น เช่น การใช้เมาส์ การพิมพ์งาน การจ้องหน้าคอมเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีการพัก สามารถทำให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อมืออักเสบได้
ไม่ใช่เพียงแค่พนักงานที่ทำงานในออฟฟิศเท่านั้น ถึงจะเป็นออฟฟิศซินโดรมได้ แต่อาชีพอื่นๆก็สามารถเป็นได้เช่นกัน เพราะไม่ใช่เพียงแค่การนั่งนานๆเท่านั้น การยืนนานๆด้วยท่าที่ไม่เหมาะสมกับสรีระร่างกายก็เป็นอีกสาเหตุของออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน
ออฟฟิศซินโดรมมีอาการอย่างไร ?
คนคงสงสัยว่าเราเป็นออฟฟิศซินโดรมหรือเปล่า ดังนั้นหากรู้ว่าออฟฟิศซินโดรมอาการเป็นอย่างไร เราก็สามารถประเมินตนเองเบื้องต้นได้เเล้ว โดยอาการของออฟฟิศซินโดรม จะมีดังนี้
- อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังบริเวณคอปวดเมื่อยหัวไหล่ หลัง เอว ขา ข้อมือ หัวเข่า รวมไปถึงปวดหัวอย่างไมเกรน
- อาการชา เหงื่อออก ตาพร่า หูอื้อ มึนงง
- อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงซึ่งเกิดจากการกดทับของเส้นประสาทเป็นระยะเวลานาน เกิดขึ้นได้เมื่อนั่งทำงานเป็นระวะเวลานาน
สัญญาณเตือนออฟฟิศซินโดรม
สัญญาณเตือนของอาการออฟฟิศซินโดรมที่สามารถสังเกตได้ง่ายๆเลย คือ มีอาการปวด การปวดหลัง คอ บ่า ไหล่ ปวดสะบักหรือปวดหัว ถ้าอาการปวดมีความรุนแรงจนผิดปกติ และไม่สามารถหายได้ง่ายๆ ให้ประเมินก่อนเลยว่าตัวเองอาจเป็นออฟฟิศซินโดรมอยู่
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม
จากที่กล่าวไว้ข้างต้น ออฟฟิศซินโดรมไม่ใช่อาการที่เกิดเฉพาะพนักงานออฟฟิศ แต่สามารถเกิดได้กับคนกลุ่มอื่นเช่นกัน การทำกิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะตอนนั่งหรือยืน เป็นเวลานานๆ ด้วยท่าทางที่ผิดต่อสรีระร่างกายมักเป็นต้นเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรมได้
- พนักงานออฟฟิศ – แน่นอนอยู่แล้วว่ากลุ่มพนักงานออฟฟิศ มีความเสี่ยงที่จะเป็นออฟฟิศซินโดรม เพราะการนั่งจดจ่อเป็นเวลานาน และนอกจากนี้การทำงานที่ต้องใช้สมาธิมาก จะทำให้คนเราเพิกเฉยๆ ต่อสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะนั่งไม่ถูกท่า นั่งหลังค่อม หรือมีอาการเมื่อยที่เริ่มมาแต่ก็ไม่ได้สนใจ
- กรรมกร – กลุ่มอาชีพนี้ ต้องใช้แรงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการยกของหนัก บ่อยๆ เป็นเวลานานๆ งานชนิดนี้ต้องใช้กล้ามเนื้อเฉพาะจุดเป็นอย่างมาก ทำให้กล้ามเนื้อต้องทำงานอย่างหนัก เป็นอีกสาเหตุของออฟฟิศซินโดรมเช่นกัน
- พนักงานขายของ – กลุ่มอาชีพนี้ ต้องยืนเป็นเวลานานๆ เพื่อรับรองลูกค้า และพยายามปิดการขาย ซึ่งการยืนเป็นเวลานานๆ โดยไม่ได้พัก และยืนไม่ถูกท่า สร้างภาระให้กล้ามเนื้อ เช่น ยืนหลังค่อม ก็อาจทำให้เป็นออฟฟิศซินโดรมได้
- นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ – การออกกำลังกายนั้นตรงตัวอยู่เเล้ว คือ การออกแรง การใช้กล้ามเนื้อ เพื่อเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ซึ่งกิจกรรมนี้จะทำให้กล้ามเนื้อต้องทำงานอย่างหนัก ซึ่งหากออกกำลังกายมากเกินไปก็จะส่งผลให้เป็นออฟฟิศซินโดรมได้
วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมเบื้องต้น
ออฟฟิศซินโดรม หากมีกการป้องกัน หรือการรักษาเบื้องต้นแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เราไม่ต้องประสบกับปัญหาออฟฟิศซินโดรม โดยสามารถทำได้ง่ายๆเลย ดังนี้
- การยืดเส้น ยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะๆ – การยืดเส้นสายเป็นช่วงๆ ไม่อยู่ในท่าทางเดิมเป็นเวลานาน จะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ทำงานหนักได้ผ่อนคลาย ลดอาการตึง ช่วยป้องกันออฟฟิศซินโดรมได้
- ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม รวมถึงพฤติกรรมการทำงาน – เพราะการทำงานนานๆ ด้วยท่าที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะนั่ง หรือยืนเป็นต้นเหตุของออฟฟิศซินโดรม ดังนั้นการตระหนักถึงปัญหาข้อนี้ และหาทางป้องกัน ไม่ว่าปรับพฤติกรรม หรือปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน อย่างความสูงของโต๊ะ เก้าอี้ ให้เหมาะสมกับเรา เป็นวิธีการป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรมที่ดีที่สุด ท่าทางการนั่งถูกต้องไหม ระดับโต๊ะสูงเกินไปหรือไม่ เก้าอี้เหมาะสมกับสภาพร่างกายหรือเปล่า
- การออกกำลังกาย – การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และไม่หนักจนเกินไป จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง มีความยืดหยุ่น ลดความเสี่ยงโรคออฟฟิศซินโดรมได้
ออฟฟิศซินโดรมรักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง
ด้วยเทคนิคทางการแพทย์ที่มีความทันสมัย ทำให้ออฟฟิศซินโดรม รักษาได้ด้วยวิธีที่หลากหลาย โดยสามารถสรุปได้เป็นข้อๆ ดังนี้
การฝังเข็ม
การฝังเข็ม เป็นวิธีที่ใช้เข็มขนาดเล็กปักตรงจุดกล้ามเนื้อที่มีความหดเกร็ง โดยใช้ปลายเข็มในการสกิดเส้นใยกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวและใยกล้ามเนื้อมีการเรียงตัวใหม่ บรรเทาอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรมได้
กายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรม
กายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรม เป็นการรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยวิธีกายภาพบำบัด โดยกายภาพบำบัดนั้นจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี และจะต้องอยู่ในความดูแลของนักกายภาพบำบัด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการทำกายภาพบำบัดนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 5 สาขา
- กายภาพบำบัดกระดูกและกล้ามเนื้อ (Orthopedic)
- กายภาพบำบัดด้านระบบประสาท (Neurological)
- กายภาพบำบัดหลอดเลือดและหัวใจ (Cardiopulmonary)
- กายภาพบำบัดผู้ป่วยเด็ก (Pediatric)
- กายภาพบำบัดผู้สูงอายุ (Geriatric)
นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกหลายชนิดที่สามารถใช้ประกอบกับการรักษาออฟฟิศซินโดรมได้ โดยอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ มีดังนี้
- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า
- เครื่องคลื่นอัลตร้าซาวด์
- เครื่องเลเซอร์กำลังสูง
- เครื่องรักษาด้วยคลื่นกระเแทก
- เครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า
- เครื่องดึงหลังดึงคอ
ท่าบริหารแก้อาการออฟฟิศซินโดรม
นอกจากนี้ วิธีการรักษาออฟฟิศซินโดรมเบื้องต้นแล้ว วันนี้เรามี 4 ท่าบริหารแก้อาการออฟฟิศซินโดรม ที่สามารถทำได้ง่ายๆที่บ้าน
ท่าที่ 1 : ท่าเพิ่มความยืดหยุ่นของลำคอส่วหน้า
นั่งตัวตรง เงยศีรษะ เอียงคอไปทั้งซ้าย 45 องศา ใช้มือขวาจับกดศีรษะค้างไว้ จนรู้สึกตึงๆค้างไว้ 15 วินาที ทำข้างขวาด้วย และทำสลับกันจนครบข้างละ 5 ครั้ง
ท่าที่ 2 : ท่าเพิ่มความแข็งแรงของคอ
ดึงคอกลับให้ตรงกับลำตัว มองหน้าตรง ไม่ก้มไม่เงย ค้างไว้อย่างน้อย 5 วินาที
ท่าที่ 3 : ท่าเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหน้าอก
เอามือและแขนแนบกำแพง โดยตั้งให้ขนานกับพื้น ก้าวขามาข้างหน้าเล็กน้อยแล้วบิดตัวออก หันหน้าออกนอกกำแพงจนรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อหน้าอก ค้างไว้ 15 วินาที ติดต่อกัน 5 ครั้ง แล้วเปลี่ยนข้าง
ท่าที่ 4 : ท่าเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อ กระดูกสันหลังช่วงอก
ประสานมือทั้งสองข้างไว้ที่ท้ายทอย แล้วแอ่นอกไปข้างหน้า 10 ครั้ง ทำทั้งหมด 3 เซต
การทำกายบริการสามารถทำได้ทุกวัน โดยไม่ต้องรอให้มีอาการออฟฟิศซินโดรมก่อน จึงค่อยเริ่มทำ แต่สามารถทำได้เลยทุกวัน หากทำอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการช่วยวอร์มอัพกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรง ยืดหยุ่นพร้อมรับการทำงาน
การป้องกันออฟฟิศซินโดรม
การป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรมที่ดีที่สุด คือ การพักผ่อน การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การรู้ลีมิตร่างกายของตนเอง หากเริ่มมีอาการปวดเมื่อยอย่างมาก ขณะทำกิจกรรมอยู่ ต้องรู้จักที่จะพักในทันที และการเฝ้าระวังสังเกตอาการของตนเองตลอดเวลา หากมีอาการผิดปกติ ต้องรีบหาวิธีบรรเทารักษาให้เร็วที่สุด เพราะอาการปวดเบื้องต้นจะรักษาได้ง่ายกว่า การปล่อยให้เรื้อรัง จนกลายเป็นออฟฟิศซินโดรม
สรุป
การทำงานให้ได้ประสิทธิภาพ คนทำงานต้องมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ จิตใจที่แจ่มใส พร้อมรับปัญหาในการทำงานที่จะถาโถมเข้ามาในแต่ละวัน ซึ่งมีปัจจัยอยู่หลายอย่างที่จะบั่นทอนการทำงานของเราได้ หนึ่งในนั้นก็คือ โรคออฟฟิศซินโดรม เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยทำให้กลุ่มคนทำงานตระหนักถึงความรุนแรงของออฟฟิศซินโดรม เพื่อจะได้ระมัดระวัง และหาวิธีป้องกันแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ทุกวันเราสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขนะครับ
เอกสารอ้างอิง
P. Pratummas and C. Khemapatpapan, “Static Fatigue Detection in Office Syndrome using sEMG and Machine Learning,” 2021 International Conference on Intelligent Cybernetics Technology & Applications (ICICyTA), 2021, pp. 64-69, doi: 10.1109/ICICyTA53712.2021.9689169.
ไพรสุวรรณา, รวิภาส and ธนะศรีสืบวงศ์, สิรภพ (2014) Exercise system for office syndrome prevention using webcam Bachelor thesis, King Mongkut’s Institute of Technology Ladkrabang https://scholar.it.kmitl.ac.th/item/id/2319