เข่าบวมคืออะไร เช็คอาการให้ชัวร์ เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี

เข่าบวม

หัวเข่าเป็นอีกส่วนของร่างกายที่สำคัญแต่หลายคนอาจมองข้าม จนวันที่พบว่าตนเองมีอาการเจ็บปวดหัวเข่า ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยหนึ่งในอาการเจ็บปวดที่อาจรบกวนใครหลายคนคือ อาการเข่าบวม เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน โดยเกิดจากการสะสมของของเหลวในข้อเข่าจนหัวเข่ามีลักษณะบวมขึ้นมา ซึ่งอาจเกิดได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา อาการบาดเจ็บ ตลอดจนอาการข้อเข่าเสื่อม หรือเข่าอักเสบ เป็นต้น



เข่าบวมคืออะไร?

เข่าบวม (Swollen Knee) คือ การที่หัวเข่ามีการสะสมของเหลวส่วนเกินในปริมาณมาก ทำให้หัวเข่าเกิดอาการบวมขยายตัวขึ้นมา เนื่องจากหัวเข่าเป็นบริเวณข้อต่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย และเป็นจุดที่ต้องรับน้ำหนักของร่างกายค่อนข้างมาก หากพบว่าเกิดอาการหัวเข่าบวม เข่าบวมน้ำ และมีอาการปวดร่วมด้วย ควรเร่งหาสาเหตุและวิธีการรักษา เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายร้ายแรงในอนาคต

โดยอาการหัวเข่าบวม อาจเกิดจากการบาดเจ็บของหัวเข่า เข่าอักเสบ เข่าติดเชื้อ เข่าบวมจากการเล่นกีฬา หรือเกิดจากโรคภัยอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ หากผู้ป่วยทราบสาเหตุได้ไวก็สามารถรักษาได้อย่างถูกวิธี โดยการรักษาเข่าบวมอาจใช้วิธีการกำจัดของเหลวที่อยู่ในข้อเข่าออกร่วมด้วยเพื่อลดอาการบวมและปวด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ


เข่าบวมเกิดจากอะไรได้บ้าง?

ข้อเข่าบวม

ภาวะเข่าบวม อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยส่วนมากมักจะเกิดจากการบาดเจ็บของข้อเข่าจากการเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกายหนักๆ ทำให้หัวเข่าเกิดอาการบวมขึ้นได้ นอกจากภาวะบาดเจ็บของข้อเข่าแล้ว อาจเกิดจากโรคหรือกลุ่มอาการอื่นๆ โดยสามารถจำแนกสาเหตุของภาวะเข่าบวมได้คร่าวๆ ดังนี้

  • เข่าบวมจากการบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุ
    • หัวเข่าผิดรูป จากการพลิก แพลง (Knee Sprains)
    • เอ็นเข่าฉีก (ACL Tears)
    • หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด (Meniscus Tears)
    • ภาวะเข่าแอ่น (Hyperextended Knee)
  • เข่าบวมจากโรค หรือกลุ่มอาการต่างๆ
    • ข้อเข่าอักเสบ (Arthritis)
      • โรคเกาต์ (Gout) และโรคเกาต์เทียม (Pseudogout)
      • โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
      • ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
    • กลุ่มอาการอื่นๆ
      • ข้อเข่าติดเชื้อ (Infections)
      • เอ็นเข่าอักเสบ (Tendonitis)
      • ถุงน้ำใต้ข้อพับเข่าอักเสบ (Baker’s Cyst)
      • ภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Disorders)

จะเห็นได้ว่า ภาวะเข่าบวม หรือเข่าบวมน้ำ สามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งอุบัติเหตุ การใช้งานหัวเข่าที่มากเกินไป รวมไปถึงโรคภัยร้ายแรงต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้ป่วยพบว่าตัวเองเกิดอาการเข่าบวมแต่ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว


อาการของภาวะเข่าบวม

อาการเข่าบวม อาจเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ โดยสามารถสังเกตอาการเหล่านี้เพื่อทำการประเมินได้ว่าเรากำลังประสบกับภาวะเข่าบวมอยู่หรือไม่ 

  • ข้อเข่าบวม – ข้อเข่ามีอาการบวมขยายขึ้นมากกว่าปกติ บางคนอาจมีอาการบวมแดง โดยอาการบวมอาจเกิดขึ้นได้เฉพาะจุด หรือทั่วทั้งหัวเข่า
  • เจ็บข้อเข่า – สังเกตได้ว่าเมื่อต้องงอเข่า หรือเดินขึ้น-ลงบันไดจะรู้สึกเจ็บผิดปกติ 
  • อาการตึง – รู้สึกว่าหัวเข่าตึงๆ ไม่สามารถยืดขาหรืองอขาจนสุดได้
  • หัวเข่ามีเสียง
  • หัวเข่าร้อน หรืออุณหภูมิสูงกว่าปกติ

วิธีรักษาหัวเข่าบวมมีอะไรบ้าง

วิธีรักษาเข่าบวม

การรักษาหัวเข่าบวม สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุและกลุ่มอาการ ยกตัวอย่างเช่น

  • วิธีรักษาหัวเข่าบวมโดยเบื้องต้น
    • การรักษาหัวเข่าบวมด้วยตนเองที่บ้านตามหลัก RICE 
    • การทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยฟื้นฟูความแข็งแรงให้กับหัวเข่า และกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบหัวเข่า ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ
    • ใช้เครื่องช่วยพยุงเข่า หรือที่รัดเข่า เพื่อบรรเทาอาการบวมและลดแรงกระแทก 
    • การใช้ยาแก้ปวดร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดหัวเข่า (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง)
  • วิธีรักษาหัวเข่าบวมโดยการผ่าตัด
    • การเจาะข้อเข่า (Arthrocentesis) เป็นการระบายของเหลวที่ค้างอยู่ในหัวเข่า เพื่อลดความดันในเข่าและอาการเข่าบวม 
    • ผ่าตัดผ่านกล้อง  (Arthroscopic Surgery) เป็นวิธีที่แพทย์มักใช้ในการตรวจวินิจฉัยอาการภายในหัวเข่า และทำการผ่าตัดรักษาความเสียหายในข้อเข่า
    • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Arthroplasty) เป็นทางเลือกในการรักษา กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะข้อเข่าเสื่อม

วิธีดูแลตนเองหากเข่าบวมได้ง่ายๆ ที่บ้าน

เบื้องต้นหากพบว่าตัวเองมีอาการหัวเข่าบวม มีวิธีที่สามารถบรรเทาอาการได้เองที่บ้าน ในกรณีที่ไม่ได้มีอาการรุนแรงมาก โดยให้ยึดหลักการ RICE ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนดังนี้

  • R (Rest) – คือการพักผ่อนหัวเข่า งดการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือกิจกรรมที่จะทำให้หัวเข่าต้องรับน้ำหนักมาก
  • I (Ice) – ประคบน้ำแข็งบริเวณที่มีอาการบวม ครั้งละประมาณ 15-20 นาที วันละ 4-8 ครั้ง
  • C (Compress) – สามารถใช้ผ้าพันเคล็ด (elastic bandage) พันรอบบริเวณหัวเข่า เพื่อลดอาการหัวเข่าบวมได้
  • E (Elevate) – ในขณะที่นอนพัก ให้รองหัวเข่าด้วยหมอนเพื่อยกหัวเข่าให้สูงเหนือระดับหัวใจ

สรุปเรื่องเข่าบวม

อาการเข่าบวมเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเกิดจากการบาดเจ็บ อุบัติเหตุ หรือกลุ่มโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับหัวเข่าก็ดี หากพบว่าอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาตัวเองได้ที่บ้าน แต่หากเข่าบวมจากอุบัติเหตุรุนแรง หรือสงสัยว่าเป็นโรคอันตรายที่เกี่ยวกับหัวเข่า ควรรับพบแพทย์โดยเร็วเพื่อวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง